Perú คือประเทศหนึ่งใน Latin America Trip ซึ่งเป็นทริปใหญ่ของเที่ยวเองในปีนี้
วันที่ 3 ในเปรู
เราออกเดินทางจากกรุง Lima สู่เมือง Cusco ศูนย์กลางสำคัญในการเดินทางต่อไปยัง Machu Picchu

ตอนที่แล้วเราพักปรับร่างกายและสร้างความคุ้นเคยกับสัมผัสแรกบนทวีปอเมริกาใต้ที่ Lima
อ่านรีวิวได้ที่ ข้ามโลก>>เที่ยวเองอเมริกาใต้ PERÚ ตอนที่ 1 “Lima” จุดตั้งต้นสู่เทือกเขาแอนดีส
ก่อนเดินทางลงสู่อเมริกาใต้ เราไปใช้ชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วคราวใน Cuba ตามรีวิวนี้ครับ
ย้อนยุค 60s เที่ยวเอง CUBA ตอนที่ 1 “Havana” เมืองโคตรศิลป์เสน่ห์แห่งแคริบเบียน
ย้อนยุค 60s เที่ยวเอง CUBA ตอนที่ 2 “Trinidad” พูดเลย! สายติสท์ต้องถูกใจ
ก่อน 8 โมง ออกจากโรงแรม Ibis Larco Miraflores เดินไปทางซ้าย (คนละทางกับทะเล) ไม่ไกลก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Avenida 28 de Julio ตรงไปที่ Hotel José Antonio (หมายเลข 1 ในแผนที่ในเว็บทางการ / หมายเลข 4 ในแผนที่ด้านล่าง) ระยะทางรวม 400 เมตร ขึ้น Airport Express Lima รอบ 08.00 น. (มีรถทุก 1 ชั่วโมง) ค่าตั๋วรถบัสสำหรับผู้ใหญ่อายุเกิน 15 ปีราคาเที่ยวละ 8 USD ซื้อจากคนขับรถหรือทางออนไลน์ก็ได้
เช็คตารางเวลารถบัสและซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ www.airportexpresslima.com
เช็คแผนที่เส้นทางรถบัสได้ที่ Airport Express Lima route map

เกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ถึง Aeropuerto Internacional Jorge Chávez หรือสนามบินนานาชาติกรุงลิม่า
ถ้าเรียกแท็กซี่ของโรงแรมไปราคา 20 USD หรือใช้บริการแท็กซี่ Green Taxi, CMV, Mitsui Taxi Remisse ค่าแท็กซี่จากเมืองใหม่ Miraflores ไปสนามบิน 50-65 sol (500-650 บาท) หรือเรียกแท็กซี่จาก http://taxidatum.com ถ้ารถไม่ติดใช้เวลา 30-35 นาที แต่ส่วนใหญ่รถจะติดเกือบทั้งวัน
ไป Cusco
11.20 น. สายการบิน Peruvian Airlines เที่ยวบิน P90214 ออกเดินทาง
เราเลือกไฟลท์ที่ออกสายหน่อยเพราะกลัวรถติดแสนสาหัสในเมืองหลวงที่อาจทำให้ตกเครื่องไฟลท์เช้าได้และตอนเช้าชอบมีหมอกลงทำให้เครื่องขึ้นลงไม่ได้ แบบวันนี้หมอกหนาจนถึง 9 โมงกว่า ไฟลท์ก่อนหน้าคือ 09.45 น. ดีเลย์มาออกเกือบ 11 โมง
เส้นทาง Lima – Cusco นี้มีสายการบินทั้ง Full Service และ Low Cost ให้เลือกหลายสาย เช่น Avianca, JetBlue Airways, Viva Air Peru, LC Perú, Star Perú ราคาก็แตกต่างกันและขึ้นลงได้ตลอด
ถ้าไม่อยากจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงก็สามารถเลือกนั่งรถบัสได้ ใช้เวลาแค่ 21 ชั่วโมง – 22 ชั่วโมง 15 นาที เอง 55
มีรถบัสของหลายบริษัท ออกตั้งแต่ 14.00-17.30 น. ไปถึง Cusco 11.30-15.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ค่าตั๋วรถบัสเที่ยวเดียวราคา 45.90-72.90 USD แล้วแต่โปรโมชั่นและบริษัทรถ
เช็คตารางเวลารถบัสได้ที่ www.go2peru.travel
เครื่องบินบินข้ามเทือกเขาแอนดีสสูงเสียดฟ้าลงจอดอย่างปลอดภัยที่ Aeropuerto Internacional Alejandro Velasco Astete เมือง Cusco ในเวลา 12.40 น. ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง 20 นาที
ค่าตั๋วเครื่องบิน Lima – Cusco ราคา 85.76 USD ประมาณ 2,820 บาท (ราคาที่โชว์ในเว็บก่อนรวม tax คือ 63 USD) เราซื้อออนไลน์ล่วงหน้าก่อนเดินทางประมาณ 2 เดือนครับ
เช็คตารางเวลาและราคาตั๋วเครื่องบินได้ที่ Peruvian Airlines
Aeropuerto Internacional Alejandro Velasco Astete (Alejandro Velasco Astete International Airport) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,310 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ห่างจากสถานีรถไฟของ PeruRail ชื่อ Estación Wanchaq ประมาณ 3.7 กิโลเมตร และห่างจากจัตุรัสกลางเมือง Plaza Mayor de Cusco ราว 5.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 20 นาที
ตอนนี้ทางการเปรูกำลังก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่เพื่อใช้แทนสนามบิน Alejandro Velasco Astete ที่เขต Chinchero ห่างจากเมือง Cusco ประมาณ 30 กิโลเมตร แต่น่าจะใช้เวลาอีกหลายปีอยู่ครับ
ที่ความสูงตั้งแต่ประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศจะเบาบาง ออกซิเจนน้อย ยิ่งสูงยิ่งหายใจลำบาก อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว อาเจียน หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากโรค Altitude sickness (acute mountain sickness) หรือ AMS ได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อให้จัดยาตามการวินิจฉัย เรากินยา Diamox ป้องกันก่อนมาถึง Cusco 24 ชั่วโมง กินครั้งละครึ่งเม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็นหลังอาหาร
เราให้โรงแรมส่งแท็กซี่มารับที่สนามบินเลย ค่าบริการ 15 USD จ่ายด้วยบัตรเครดิตตอนถึงโรงแรมได้
นั่งแท็กซี่ประมาณ 15 นาทีไปเช็คอินที่ Hotel Novotel Cusco
ระหว่างทางจะผ่าน Monumento Pachacutec รูปปั้นของจักรพรรดิ Pachacuteq Yupanki ผู้สร้างเมืองกุซโก้และแผ่ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิอินคาไปรอบๆ บริเวณ Willka Qhichwa หรือ Valle Sagrado de los Incas (Sacred Valley of the Incas)
หรือจะใช้บริการ Llama Taxi เข้า Centro Histórico ของ Cusco ค่าแท็กซี่ 45-55 sol (450-550 บาท) ก็ได้ ถ้าต้องการราคาถูกกว่าให้ออกนอกอาคารเดินไปทางขวาตามแนวกำแพงที่จอดรถไปเรียกแท็กซี่ แท็กซี่ไม่มีมิเตอร์ ค่าแท็กซี่ 10-15 sol แต่อาจถูกโก่งราคากว่านี้ได้ แท็กซี่ที่นี่ปลอดภัยกว่าที่ลิม่าครับ
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเดินทางจากสนามบิน Cusco เข้าตัวเมืองได้ที่ Cusco Airport General Information
ถึงโรงแรม Novotel Cusco แล้ว ถนนด้านหน้าดูบรรยากาศเก่าๆ เล็กๆ แต่ข้างในโรงแรมดูหรู โออ่ามากๆ
พนักงานต้อนรับเอาชาใบโคคามาให้ดื่มช่วยลดอาการแพ้ความสูงได้
เราจองห้อง Standard Twin Room ไว้ 4 คืน ราคาคืนละ 121.50 USD มีอาหารเช้า แต่จะพักจริงแค่ 2 คืน อีก 2 คืนเอาไว้เก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ตอนไปค้างที่ Aguas Calientes ก่อนขึ้นมาชูปิกชูตอนเช้ามืดวันรุ่งขึ้น และเอาไว้กลับจาก Rainbow Mountain มาอาบน้ำและจัดกระเป๋าเตรียมนอนในรถบัสไป Puno ตอนดึกวันสุดท้าย
หน้าตาห้องดูดีสมราคาแบบนี้ครับ 😀
อยู่บนที่สูงมากๆ ต้องทำอะไรช้าๆ ค่อยๆ ทำ เพราะอากาศเบาบางทำให้เหนื่อยได้ง่าย แต่จุดนี้เราต้องรีบไปสถานทูตโบลิเวีย (Consulado de Bolivia) เพื่อขอวีซ่าโบลิเวียให้ทัน
สถานทูตโบลิเวียอยู่เลขที่ 105 ถนน Oswaldo Baca ห่างจากโรงแรมเกือบ 4 กิโล เปิดวันจันทร์-ศุกร์ตั้งแต่ 08.00-15.30 น. วันเสาร์ไม่รู้เปิดถึงกี่โมง ขอวีซ่าโบลิเวียที่นี่ฟรี ถ้ามีคนขอไม่เยอะก็นั่งรอรับได้เลย ถ้าไปขอ on arrival ที่ด่านชายแดนหรือสนามบินจะต้องเสียค่าวีซ่า 100 USD ครับ
ให้รีเซ็ปต์ชั่นโทรเรียกแท็กซี่มารับที่โรงแรม ตกลงค่าแท็กซี่ที่ 7 sol (70 บาท)
พอเข้าไปถึงก็ได้ยินกงสุลบอกกับฝรั่ง 3 คนที่เพิ่งยื่นเอกสารเสร็จว่าอีก 3 วันค่อยมารับวีซ่า ชิหายละ!! เท่าที่อ่านข้อมูลมาบอกว่านั่งรอรับได้เลย เอาวะ! ลองยื่นดูก่อน เราจำเป็นต้องได้วีซ่าวันนี้เพราะวันถัดไปไม่ว่างมาสถานทูตแล้ว จัดโปรแกรมเที่ยวตั้งแต่เช้าก่อนสถานทูตเปิดและกลับถึงค่ำที่สถานทูตปิดแล้วทุกวัน
กงสุลบอกว่าอีก 3 วันมารับเหมือนกันเลย ซวยแล้วแหละ สงสัยต้องยอมจ่ายตังค์ทำ on arrival ที่ชายแดน เราพยายามขอให้ได้วันนี้โดยอธิบายเหตุผลความจำเป็นต่างๆ กงสุลลีลาทำท่าจะไม่ให้วันนี้ สงสัยสถานทูตใกล้ปิดแล้ว วิงวอนท่านอยู่สักพักก็โอเคและบอกให้ส่งเอกสารประกอบการขอวีซ่า ดังนี้
- แบบฟอร์มการขอวีซ่าหรือ Sworn Statement for Visa Application ที่ต้องกรอกออนไลน์มาก่อน ทำเสร็จแล้วก็ปรินท์และถ่ายเอกสารโดยยังไม่ต้องเซ็นชื่อ ไปเซ็นตอนยื่นขอวีซ่าที่สถานทูตหรือด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดนหรือสนามบิน
กรอกแบบฟอร์มได้ที่ www.rree.gob.bo โดยเตรียมหลักฐานต่างๆ ด้านล่างให้ครบและสแกนเป็นไฟล์สำหรับแนบตอนกรอกไว้ก่อน ทำไปทีละขั้นตอนซึ่งค่อนข้างงง ถ้าสแกนเอกสารหลักฐานไม่ครบจะไม่สามารถไปถึงขั้นตอนสุดท้ายได้ เมื่อถึงหน้าจอสุดท้ายแปลว่าได้ทำการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว
ต้องไปยื่นขอวีซ่าภายใน 15 วัน นับจากวันที่ลงทะเบียน (Fecha de registro) โดยใช้วันที่ลงทะเบียนตามวันและเวลาของโบลิเวียซึ่งช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง ถ้ายื่นขอวีซ่าไม่ทันภายในกำหนดจะต้องกรอกแบบฟอร์มใหม่
- พาสปอร์ตที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน เตรียมสำเนาไปด้วย
- สมุดเล่มเหลืองยืนยันว่าได้รับการฉีดวัคซีนไข้เหลืองแล้ว
- รูปถ่ายขนาด 2×2 นิ้ว (ในแบบฟอร์มเขียนว่า 3×3 ซม.) ขนาดเดียวกับรูปขอวีซ่าสหรัฐฯ
- หลักฐานการจองโรงแรม
- แผนการเดินทางในโบลิเวีย (พิมพ์คร่าวๆ ว่าวันไหนจะไปไหนบ้าง ค้างคืนที่เมืองอะไร)
- Statement แสดงบัญชีเงินฝากธนาคาร
เช็ครายการเอกสารได้ที่ www.rree.gob.bo/Documentos/Requirements
ผมลืมเอาสมุดเล่มเหลืองไป แต่กงสุลก็ไม่ว่าเพราะมีหลักฐาน attach ไปตั้งแต่ตอนกรอกขอวีซ่าแล้ว จริงๆ กงสุลใจดีครับ แต่อาจมีลูกเล่นกวนๆ บ้าง
สรุปคือนั่งรอแค่ 5 นาทีก็ได้วีซ่าโบลิเวียแบบไม่ต้องเสียตังค์
โบกแท็กซี่กลับโรงแรมอีก 7 sol นอนพักเหนื่อยประมาณครึ่งชั่วโมงเพราะปวดๆ มึนๆ ตรงท้ายทอย สงสัยโดน altitude sickness เล่นงาน
พออาการดีขึ้นก็พร้อมออกไปเดินเที่ยวชมเมือง Cusco
Cusco (Cuzco) หรือกุซโก้ (ในภาษา Quechua คือ Qusqu หรือ Qosqo) เป็นอดีตศูนย์กลางการเมือง การปกครอง และการทหาร ของจักรวรรดิ Inca หรือ Tawantinsuyu ในภาษา Quechua ซึ่งมีความหมายว่าภูมิภาคทั้งสี่ (จริงๆ ชาวอินคามีภาษาพูดคือภาษา Quechua แต่ไม่มีตัวอักษร)
อินคาเป็นจักรวรรดิโบราณที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ในยุคก่อนโคลัมบัสซึ่งรุ่งเรืองในระหว่างปีค.ศ. 1438-1533 ปัจจุบันคือประเทศเปรู เอกวาดอร์ ตอนใต้ของประเทศโคลอมเบีย ภาคตะวันตกและใต้ของประเทศโบลิเวีย ตอนเหนือของประเทศชิลี และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอาร์เจนตินา

เมื่อปีค.ศ. 1526 Francisco Pizarro González นักสำรวจดินแดนชาวสเปนได้เดินทางจากปานามาเพื่อสำรวจดินแดนทางใต้และค้นพบจักรวรรดิอินคาเป็นครั้งแรกและกลับมาสำรวจอีกครั้งในอีก 3 ปีถัดมา จากนั้นเดินทางกลับสเปนเพื่อขอพระราชานุญาตและกำลังสนับสนุนเพื่อยึดครองดินแดนอินคา เมื่อกองทัพสเปนกลับมายังดินแดนแถบนี้อีกครั้งในปีค.ศ. 1532 บ้านเมืองอินคากำลังวุ่นวายและอ่อนแอเนื่องจากสงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่าง Huáscar กับ Atahualpa เพิ่งจบลง และเกิดโรคฝีดาษที่แพร่ระบาดมาจากอเมริกากลางรุมเร้า
Francisco Pizarro จึงยกทัพเข้าปะทะกับพวกอินคาที่เมือง Cajamarca และสามารถจับตัว Atahualpa เป็นตัวประกัน อาตาอวลปาจึงเสนอค่าไถ่เป็นทองคำและเงินจำนวนมหาศาล แต่เมื่อชาวอินคาหาค่าไถ่มาได้ ปีซาร์โรกลับไม่ยอมปล่อยตัวประกันตามสัญญา ระหว่างนั้น Huáscar ถูกลอบสังหารโดยที่ชาวสเปนอ้างว่าเป็นคำสั่งของอาตาอวลปา สเปนจึงใช้เหตุนี้เป็นข้อกล่าวหาในการประหารอาตาอวลปาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1533 และยึดดินแดนเปรูเป็นอาณานิคม
เล่าประวัติศาสตร์พอหอมปากหอมคอนะครับ
เข้าเรื่องเที่ยวเลยดีกว่า
ออกจากโรงแรม เดินไปทางขวาตาม Calle San Agustin ตรงขึ้นทางชันไปจนถึง Centro Artesanal เลี้ยวซ้ายเดินอีกไม่ไกลผ่าน Iglesia del Triunfo (Church of Triumph) โบสถ์แห่งแรกของกุซโก้ที่สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1539 ก็ถึงจัตุรัสกลางเมือง Plaza Mayor de Cusco หรือ Plaza de Armas ที่ชาวอินคารู้จักกันว่า Square of the warrior (ระยะทางประมาณ 300 เมตร) ถ้าเลี้ยวขวาก็จะเข้าถนน Calle Hathunrumiyoq (Hatunrumiyoc)
เราซื้อตั๋วรถไฟของ Inca Rail จาก Ollantaytambo ไป Aguas Calientes (Machu Picchu) เวลา 16.36 น. วันพรุ่งนี้ทางออนไลน์ไว้แล้ว ตั๋วรถไฟ Ollantaytambo – Machu Picchu ราคา 79 USD (258 sol)
เช็คตารางเวลา ราคาตั๋ว และซื้อล่วงหน้าได้ที่ Inca Rail
แต่ยังไม่มีรถจาก Cusco ไป Ollantaytambo เลย เพราะรถบัสของ Inca Rail จะออกจาก Cusco เวลา 04.50 น. ไปถึง Ollantaytambo เร็วเกินไป ต้องรอต่อรถไฟนาน เวลามันไม่สะดวกและลงตัว ส่วนของ PeruRail จะออกตอน 7 โมงครึ่ง ค่าตั๋วแบบ Biomodal คือรวมค่ารถบัสกับรถไฟจาก Cusco ถึง Machu Picchu เลย ราคา 115 USD (368.92 sol) แพงกว่า Inca Rail 25 USD แหนะ (ยิ่งซื้อใกล้ราคายิ่งแพง)
เช็คตารางเวลา ราคาตั๋ว และซื้อล่วงหน้าได้ที่ PeruRail
วิธีการที่เราจะใช้เดินทางจาก Cusco ไป Ollantaytambo คือซื้อทัวร์ท้องถิ่นไป Willka Qhichwa หรือ Valle Sagrado de los Incas (Sacred Valley of the Incas) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Urubamba Valley คือหุบเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคาในเทือกเขาแอนดีส (Andes)
ทัวร์มีหลายเส้นทางหลายราคาให้เลือก เช่น Písac, Chinchero, Moray, Maras ทัวร์จะพาไปถึงเมือง Ollantaytambo แล้ววนกลับถึง Cusco ตอนเย็น พอถึงโอยานเตย์ตัมโบเราจะโดดทัวร์ที่นั่นไปขึ้นรถไฟ Inca Rail ที่ซื้อไว้ไปมาชูปิกชู ทำแบบนี้จะได้เที่ยวระหว่างทางไปด้วย ไม่ต้องออกแต่เช้าแล้วนั่งรถยาวรวดเดียว
นอกจากนี้ยังสามารถเหมาแท็กซี่จาก Cusco ไป Ollantaytambo ได้ ลองดูเว็บนี้นะครับ http://taxidatum.com หรือลองให้โรงแรมช่วยหาให้เพื่อความมั่นใจก็ได้
รอบๆ จัตุรัสกลางเมือง Plaza Mayor de Cusco (Plaza de Armas) มีบริษัททัวร์เพียบครับ ถ้ามีเวลาถามไปเรื่อยๆ จนพอใจได้เลย แต่เราไม่คิดมากเรื่องราคาครับ เอาเป็นว่ามีทัวร์ที่ออกไม่เช้าเกินไปและไปถึง Ollantaytambo ประมาณบ่าย 3 ก็โอเคแล้ว
เราซื้อทัวร์เส้นทาง Cusco – Chinchero – Moray – Maras – Ollantaytambo ราคารวมอาหารกลางวัน 85 sol (850 บาท) ถ้าไม่เอาอาหารกลางวันเหลือ 55 sol (บางคนหาทัวร์ได้ในราคา 30 sol) ราคานี้ยังไม่รวมค่า Cusco Tourist Ticket แบบ Circuito 3: Archaeological Sites of the Sacred Valley of the Incas ราคา 70 sol ซึ่งจำเป็นต้องซื้อเพื่อใช้เข้าชมโบราณสถานต่างๆ สามารถซื้อหน้าทางเข้าโบราณสถานได้หรือจะซื้อล่วงหน้าที่ออฟฟิศใน Cusco ซึ่งมี 2 แห่ง โดยเตรียมพาสปอร์ตไปด้วย
- COSITUC: Tourist Galleries, Avenida El Sol 103 ใกล้ Plaza Mayor วันจันทร์-ศุกร์ 08.00-17.30 น. และวันเสาร์ 08.30-12.30 น.
- OFEC: Calle Garcilaso s / n ใกล้ Plaza Regocijo วันจันทร์-เสาร์ 08.00-17.00 น. และวันอาทิตย์ 08.00-20.00 น.
เช็คตั๋วประเภทต่างๆ และราคาได้ที่ Cusco Tourist Ticket
แต่เราไปซื้อหน้างานเลยครับ
ถ้าจะเข้าชมเหมืองเกลือ Salineras de Maras จะต้องจ่ายเงินเพิ่มคนละ 10 sol ด้วย
สรุป ตอนนี้คือหารถจาก Cusco ไปถึง Ollantaytambo ได้แล้ว มีตั๋วรถไฟต่อไป Aguas Calientes (Machu Picchu) และตั๋วรถไฟจาก Machu Picchu กลับ Ollantaytambo รวมค่ารถบัสต่อกลับถึง Cusco ที่ซื้อออนไลน์ไว้แล้ว ครบเรียบร้อยครับ

แต่ล่าสุดสามารถนั่งรถไฟจากในเมือง Cusco ตรงไปยังสถานีรถไฟ Aguas Calientes ได้แล้ว
ผมอัพเดทข้อมูลไว้ตามนี้ครับ Guide to Machu Picchu
ในเมือง Cusco เห็นทัวร์พาไปมาชูปิกชูด้วย มีคนบอกว่าค่าทัวร์รวมทุกอย่างถูกกว่าซื้อทุกอย่างเองหมดอีก แต่ผมไม่ได้ถามราคามานะ ถ้ามาในช่วง low season ตั้งแต่เดือนพ.ย.-เม.ย. โดยเฉพาะเดือนม.ค.-ก.พ. ที่มีฝนตกบ่อยสุด
ตั๋วรถไฟจาก Ollantaytambo ไป Aguas Calientes ไม่ค่อยเต็มและนักท่องเที่ยวไม่ได้จองขึ้นมาชูปิกชูล่วงหน้าจนเต็มโควต้า บริษัททัวร์น่าจะจัดการซื้อตั๋วและจองเข้ามาชูฯ สดๆ หน้างานได้ แต่ถ้ามาในช่วง high season คือฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค. ก็ควรซื้อและจองทุกอย่างมาล่วงหน้า ไม่ควรมาหาหน้างานเพราะมีเปอร์เซนต์อดไปสูง
ช่วงเดือนมีนา กลางวันแดดแรงแต่เนื้ออากาศไม่ถึงขั้นร้อน ส่วนตอนเย็นอุณหภูมิลดลงเยอะ ยังไงควรพกแจ็คเก็ตติดตัวไปด้วยนะครับ
เมื่อจัดการทุกอย่างพร้อมก็ถึงเวลาเดินชมเมืองแล้ว
เริ่มต้นที่ Plaza Mayor de Cusco หรือ Plaza de Armas จัตุรัสศูนย์กลางเมืองกุซโก้ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Catedral Basílica de la Virgen de la Asunción (Cathedral Basilica of the Assumption of the Virgin) หรือที่เรียกกันว่า Catedral del Cuzco (Cusco Cathedral) วิหารโรมันคาทอลิกเก่าแก่ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบร้อยปีโดยเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีค.ศ. 1654
ภายในวิหารมีผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่เกิดจากฝีมือของ Escuela Cuzquena (Cuzco school of art) เช่น Pintura Senor de los Temblores คือรูปวาดที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ รูปวาด The Last Supper เวอร์ชั่นเปรูที่วาดโดย Marcos Zapata เมื่อปีค.ศ. 1753 เป็นรูปพระเยซูและอัครสาวก 12 คนอยู่รอบโต๊ะเตรียมรับประทานหนูตะเภา (Cavia porcellus) คู่กับ chicha เครื่องดื่มของคนเปรูซึ่งทำจากข้าวโพดม่วง แต่สาวกที่เป็นคนทรยศพระเยซูกลับวาดเป็นหน้าของ Francisco Pizarro แม่ทัพสเปนผู้บุกยึดครองดินแดนของชาวอินคานั่นเอง
โบสถ์เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 10.00-18.00 น. ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ราคา 25 sol แต่ทำไมวันนี้ปิดก็ไม่รู้ ยังไม่ 5 โมงครึ่งเลย อดเข้าซะงั้น
อีกโบสถ์คือ Iglesia de la Compañía de Jesús (Church of the Society of Jesus) ที่เริ่มสร้างตั้งแต่ปีค.ศ. 1576 อีก 74 ปีต่อมาได้ถูกแผ่นดินไหวทำลายย่อยยับ อีก 2 ทศวรรษให้หลังจึงได้รับบูรณะขึ้นใหม่ โบสถ์แห่งนี้คือแบบอย่างของสถาปัตยกรรม Andean Baroque ภายในเป็นที่เก็บสะสมผลงานศิลปะท้องถิ่นมากมาย
ชมบรรยากาศรอบๆ จัตุรัสที่คึกคักทั้งนักท่องเที่ยวนานาชาติและคนขายของ อยู่แถวนี้อย่าเดินเพลินจนลืมระวังตัวจากมิจฉาชีพด้วยนะครับ แม้จะไม่น่าห่วงเท่าที่เมืองเก่าลิม่าแต่ก็ไม่ควรประมาท
เดินเข้าถนนด้านข้าง Catedral del Cuzco ผ่าน Iglesia del Triunfo (Church of Triumph) ทางเดียวกับตอนเดินมา ตรงต่อไปเข้า Calle Hathunrumiyoq (Hatun Rumiyuq) ใน google map ใช้ว่า Hatunrumiyoc ถนนแคบๆ ที่ด้านข้างเป็นกำแพงหินที่ชาวอินคาใช้ในการก่อสร้าง จุดที่เจ๋งคือกำแพงของพระราชวังเก่าในสมัยอินคาที่เชื่อมต่อหิน 12 มุมเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน
ใกล้มืดแล้ว ขอเดินไปยังอีกหนึ่งโบสถ์สำคัญของเมืองแล้วค่อยกลับมาเก็บภาพตอนโพล้เพล้สุดๆ ที่ถนน Hathunrumiyoq และ Plaza Mayor
เดินกลับเข้าถนน Calle San Agustin ผ่านโรงแรม Novotel Cusco ตรงไปสุดทางเลี้ยวขวาไปยัง Qorikancha (Coricancha) แปลว่า golden place หรือแหล่งทองคำ มีความเชื่อว่าแต่ก่อนพื้นและกำแพงของวิหารฉาบด้วยทองคำ แต่เมื่อสเปนบุกยึดอินคาสำเร็จก็ได้หลอมทองคำเป็นทองแท่งขนกลับสเปน
สถานที่นี้คือ Temple of the Sun หรือวิหารสุริยันซึ่งเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของจักรวรรดิอินคาสร้างขึ้นเพื่อบูชา Inti หรือสุริยเทพของชาวอินคาตามความเชื่อที่ว่ากษัตริย์ซึ่งเปรียบเป็นบิดาของพวกเขาเป็นบุตรของเทพแห่งดวงอาทิตย์ ทุกเผ่าของจักรวรรดิอินคาจึงต้องสร้างวิหารไว้บูชาองค์สุริยเทพ
ภายหลังสเปนเข้าปกครองอินคา วิหารแห่งนี้ก็ถูกทำลายเสียหายอย่างมากเพื่อสร้างโบสถ์ Convento de Santo Domingo แทนที่
เดินกลับทางเดิมไปที่ถนน Hathunrumiyoq และ Plaza Mayor ถ่ายภาพสวยๆ ตอนค่ำ
ทางทิศเหนือของ Plaza Mayor ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร มีโบราณสถานสำคัญหนึ่งในเขต Sacred Valley คือ Sacsayhuamán (Saqsaywaman) ซึ่งแปลว่า place where the hawk is satisfied ซากป้อมกำแพงเมืองโบราณบนเนินเขาที่ระดับความสูง 3,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล กำแพงหินแห่งนี้เริ่มสร้างโดยพวก Killke ช่วง 1100 ปีก่อนคริสตกาล พวกเขาอาศัยอยู่ที่บริเวณนี้จนถึงราว 900 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาในศตวรรษที่ 13 ชาวอินคาได้ขยายต่อเติมแนวกำแพงหินจนยิ่งใหญ่อย่างที่เห็น ป้อมกำแพงเมืองแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO เมื่อปีค.ศ. 1983 พร้อมกับเมืองกุซโก้
การเข้าชม Sacsayhuamán ต้องซื้อ Cusco Tourist Ticket แบบ Circuito 1: Archaeological Sites Cusco ราคา 70 sol ส่วนแบบ 2 วันคือ Circuito 2: Tourist Circuit of Museums and South Valley ราคา 70 sol แต่ใช้เข้า Sacsayhuamán ไม่ได้
ลอง search รูปดูนะว่าน่าไปมั้ย แต่เราไม่ได้เลือกไปครับ
แถว Plaza Mayor มีร้านอาหารหลายร้าน แต่ราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับที่ลิม่าคือ 20-35 sol (200-350 บาท) ถ้าเดินเลยไปอีกนิด แถวจัตุรัสเล็กๆ มีร้านอาหารราคาถูกกว่า มาเปรูแล้วจะพลาดไก่ย่างไม่ได้ สั่ง ¼ Pollo a la Brasa (Grilled Chicken) ไก่ 1 ส่วน 4 ตัว มาคนละจานๆ ละ 13 sol และน้ำมะนาวเหยือกใหญ่ 7 sol มื้อนี้จ่ายไปคนละ 165 บาท พูดเลย “โคตรอร่อย” 😀
เดินกลับโรงแรม จัดกระเป๋าเป้ให้พร้อมไปค้างที่ Aguas Calientes คืนวันพรุ่งนี้ก่อนขึ้น Machu Picchu เช้ามืดวันมะรืน และกลับมาค้างที่ Cusco ในวันที่ลงจากมาชูปิกชู
เราต้องจองห้องที่ Novotel Cusco ไว้เก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่เพราะรถไฟจาก Ollantaytambo ไป Aguas Calientes (Machu Picchu) ไม่ให้เอาขึ้นครับ
คืนนี้ค้างคืน Cusco
วันที่ 4 ในเปรู
รถตู้ของบริษัททัวร์ที่ซื้อไว้เมื่อวานจะมารับตอน 7 โมง เช้านี้เลยต้องรีบตื่นตั้งแต่ก่อนตี 5 ลงมารับประทานอาหารเช้าที่เปิดเร็วมากคือตี 4 ครึ่ง
นั่งรถตู้ไปต่อรถบัสที่มีลูกทัวร์รออยู่เกือบเต็มคัน วันนี้ขอตามทัวร์ท้องถิ่นไป Sacred Valley หุบเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินคา ได้แก่ Chinchero – Moray – Maras – Ollantaytambo
ชาวอินคามีความเชื่อเรื่องศาสตร์แห่งดวงดาว โดยเชื่อว่าบริเวณหุบเขาศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นจุดสะท้อนของทางช้างเผือกบนท้องฟ้าลงสู่พื้นดิน โดยแม่น้ำ Vilcanota (Willkanuta) ซึ่งแปลว่า house of the sun เป็นแกนของทางช้างเผือก ชาวอินคาจึงสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่บริเวณนี้มากมายและในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นโบราณสถานและมรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของโลก
ที่แรกที่ทัวร์พาไปคือ Chinchero ออกเสียงว่า “จินเจโร” เมืองเล็กๆ ซึ่งเป็นแหล่งหัตถกรรมพื้นเมืองขายสินค้าฝีมือชาว Quechua ชนพื้นเมืองแถบนี้ (ระยะทางจาก Cusco ประมาณ 30 กิโลเมตร)
หลายคนเลือกไปทัวร์ที่ Písac เพื่อชมโบราณสถานของชาวอินคาที่เขตประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในสมัยอินคา เดินตลาดพื้นเมือง และชมคนเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่เรียกว่า pututo วันอาทิตย์จะมีตลาดนัดขายเครื่องรางของขลังของชาวอินคา แต่ไกด์บอกว่าตลาดที่ปิซัครับของจาก Chinchero มาขายนี่แหละ ราคาจึงแพงกว่า
นั่งรถอีกแป๊บเดียวก็ลงที่ Parque Arqueológico de Chinchero ก่อนเข้าโบราณสถานต้องซื้อ Cusco Tourist Ticket แบบ Circuito 3: Archaeological Sites of the Sacred Valley of the Incas หรือ Tarifa Parcial ราคา 70 sol
จากนั้นเดินตามทางหินขรุขระขึ้นไปยังป้อมกำแพงโบราณและโบสถ์เก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1607
นั่งรถต่ออีกเกือบ 30 กิโลไป Moray (Muray) โบราณสถานอินคาใกล้เมือง Maras
โมรายคือนาขั้นบันไดแหล่งเพาะปลูกทำการเกษตรที่สร้างจากภูมิปัญญาของชาวอินคาในสมัยก่อน แต่ละขั้นมีอุณหภูมิแตกต่างกันทำให้เหมาะที่จะปลูกพืชต่างชนิดกัน โดยขั้นที่อยู่ลึกมีอุณหภูมิสูงกว่า
ใช้ Cusco Tourist Ticket ใบเดิมผ่านประตูนะครับ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
เดินไปออกอีกทางแล้วขึ้นรถต่อเข้าเมือง Maras แวะร้านขายของพื้นเมืองที่จัตุรัสกลางเมือง Plaza de Armas แป๊บนึง
จากนั้นนั่งรถไปเหมืองเกลือ Salineras de Maras (Salt ponds of Maras) ชาวอินคาขุดสร้างบ่อเกลือกว่า 3,000 บ่อสำหรับผลิตเกลือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เจ๋งดีอ่ะ ดูคล้ายๆ Pamukkale ที่ตุรกีเหมือนกันนะ
ต้องเสียค่าเข้าเพิ่มอีก 10 sol
ไกด์ให้เวลาที่นี่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ยังเดินไม่ทั่วเลยต้องกลับไปขึ้นรถไปกินข้าวกลางวันที่เมือง Urubamba
ถ้าไม่ได้ซื้อทัวร์แบบรวมอาหารกลางวันมาก็ต้องเดินหรือนั่งตุ๊กตุ๊กหาร้านอาหารเอง ในเมืองมีร้านอาหารราคาถูกกว่าเยอะ แต่ไม่รู้อยู่ตรงไหนนะ 55
บ่ายสองโมง เดินทางต่อไปเมือง Ollantaytambo (Ullantaytampu) เมืองสำคัญใน Sacred Valley บนความสูง 2,792 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
เราแจ้งไกด์ว่าจะโดดทัวร์ที่นี่จึงต้องเอาเป้และของทั้งหมดลงจากรถเลย
ในสมัยอินคาเมืองนี้เป็นพระราชทรัพย์ของจักรพรรดิ Pachacuti ผู้ปกครองภูมิภาคแถบนี้และได้สร้างเมืองโอยานเตย์ตัมโบเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ชาวอินคานิยมวางผังเมืองเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ลามะ เสือพูม่า งู นกแร้ง โดยผังเมืองโบราณ Ollantaytambo ออกแบบเป็นรูปตัวลามะ โบราณสถานที่นี่ถือว่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
ใช้ Cusco Tourist Ticket ใบเดิมเข้าชม Sitio Arqueológico de Ollantaytambo เช่นกัน
เดินขึ้นป้อมโคตรสูงไปทีละชั้นๆ เดินไปพักเหนื่อยเพราะอากาศร้อน ออกซิเจนน้อย และแบกเป้หนัก แต่วิวดีมาก ถ่ายรูปเพลินเลยครับ
หอบเป็นระยะๆ 55 พอผ่านประตูหินไปไม่ไกลก็ถึง Templo del Sol (Temple of the Sun) หินก้อนใหญ่ที่สุดในโบราณสถานแห่งนี้เป็นหินแกรนิตสีชมพูที่ตัดและขนข้ามหุบเขาและแม่น้ำมาไว้ตรงนี้ ไม่รู้ว่าสมัยก่อนชาวอินคาเค้าขนหินหนักหลายร้อยตันขึ้นเขามาได้ยังไง? สุดยอดมากๆ
บ่าย 3 ครึ่งแล้ว ถึงเวลาเดินไปสถานีรถไฟ ถ้าจะเดินให้ทั่วน่าจะต้องใช้เวลาอีกชั่วโมงนึง
เดินลงทางเดิมออกนอกเขตโบราณสถาน
เดินผ่านตลาดด้านหน้าไปทางขวาตรงไปข้ามแม่น้ำแคบๆ แล้วเลี้ยวขวาเดินเลียบแม่น้ำเกือบ 10 นาที (ระยะทางทั้งหมดประมาณ 1 กิโลเมตร) ก็ถึงจุดเช็คอินของบริษัท Inca Rail ที่ Estación Ollantaytambo หรือสถานีรถไฟ Ollantaytambo ถ้าขี้เกียจเดินก็เรียกตุ๊กตุ๊กมาได้ไม่กี่ sol
ต้องมาออกตั๋วก่อนเวลารถไฟออก 30 นาที โดยแสดงพาสปอร์ตตัวจริงหรือสำเนาก็ได้
รถไฟของ Inca Rail ขบวน Executive Class ที่เราซื้อล่วงหน้ามาก่อนแล้วมี 123 ที่นั่ง ส่วนขบวน Machu Picchu จาก Cusco มี 244 ที่นั่ง และจาก Ollantaytambo มี 96 ที่นั่ง ควรจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เห็นบางคนมาซื้อหน้างาน ถ้าโชคดีรถไฟไม่เต็มก็ได้ไปมาชูปิกชูครับ
ตั๋วรถไฟ Ollantaytambo – Machu Picchu แต่ละเวลาแต่ละขบวนราคาไม่เท่ากัน และราคาจะขึ้นเรื่อยๆ เราซื้อออนไลน์มาได้ 79 USD (258 sol) ครับ
เช็คตารางเวลา ราคาตั๋ว และซื้อล่วงหน้าได้ที่ Inca Rail
รถไฟของอีกบริษัทที่ใช้เดินทางไป Aguas Calientes (Machu Picchu) ได้คือ PeruRail แต่รถไฟขบวน Vistadome ซึ่งเป็นขบวนคลาสกลางของ PeruRail จะออกจาก Ollantaytambo 15.37 น. (ถึง Aguas Calientes 17.02 น.) มันเร็วเกินไป กลัวทัวร์มาถึง Ollantaytambo ไม่ทัน แถมราคาแพงกว่าด้วยคือ 85 USD (272.68 sol) เลยเลือกรถไฟของ Inca Rail ดีกว่าครับ
เช็คตารางเวลา ราคาตั๋ว และซื้อล่วงหน้าได้ที่ PeruRail
เดินเข้าสถานีรถไฟไปรอขึ้นรถไฟที่ชานชาลาในเวลา 16.36 น.
หน้าตารถไฟขบวน Executive Class ของ Inca Rail เป็นแบบนี้
นั่งรถไฟชมวิวแม่น้ำ Urubamba ไหลเชี่ยวคดเคี้ยวท่ามกลางเทือกเขาแอนดีสสูงปรี๊ด ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงสถานีปลายทางคือ Estación de Machu Picchu เมือง Aguas Calientes
Aguas Calientes (อากวส กาลิเอนเตส) คือเมืองต้นทางของการขึ้น Machu Picchu

ออกจากสถานีรถไฟ เดินผ่านตลาดนิดเดียวก็ถึงแม่น้ำ Río Aguas Calientes ข้ามสะพานที่เห็นท่ารถบัสขึ้นมาชูปิกชูอยู่ข้างล่าง
ลงสะพานเดินไปคนละทางกับท่ารถบัสนิดเดียวมีซอยซ้ายมือก็เห็นป้าย Hostal Angie’s Inn เราจะซุกหัวนอนที่นี่ไม่กี่ชั่วโมง เช้ามืดพรุ่งนี้ก็เช็คเอาท์แล้ว ไม่ต้องพักหรูอยู่สบายอะไรมากมายครับ ห้องพักคืนนี้ราคา 132 sol (40 USD) จ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ มีอาหารเช้า แต่เราจะออกตั้งแต่ตี 5 เลยขอให้เค้าเตรียมอาหารใส่กล่องให้เลยตั้งแต่คืนนี้
สภาพห้องโอเคนะ สะอาดดี มีห้องน้ำในตัว แต่อินเตอร์เน็ตไม่ค่อยแรง ต้องออกไปนั่งเล่นนอกห้อง
ที่พักที่ Aguas Calientes มีให้เลือกมากมายหลายระดับราคาตั้งแต่คืนนึงเกือบหมื่นบาทจนถึงคืนละไม่ถึงพัน ควรเลือกที่พักคนละฝั่งแม่น้ำกับสถานีรถไฟเพราะเป็นเขตตัวเมืองและท่ารถบัสไปมาชูปิกชูก็อยู่ฝั่งนั้น
เก็บของเสร็จแล้ว เดินไปท่ารถบัสซื้อตั๋วรถบัสขึ้นมาชูปิกชูแบบไป-กลับราคา 24 USD ตั๋วมีอายุ 3 วัน ซื้อตั๋วได้ตั้งแต่ 05.00-21.00 น. นำพาสปอร์ตหรือสำเนาไปด้วย ควรซื้อตั้งแต่คืนนี้เลย ถ้าในหน้า high มาซื้อตอนเช้าคนจะเยอะมาก
อัพเดทข้อมูลได้ที่ Bus ticket to Machu Picchu
ถ้าไม่อยากจ่ายค่ารถแพงก็เดินขึ้นเขาไปได้ ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เราขอใช้เงินแก้ปัญหาดีกว่า 555
จากนั้นก็เดินผ่าน hostal ขึ้นไปหาร้านอาหารในเมืองที่ Avenida Pachacutec ถนนสายหลักของเมือง เห็นเมนูสเต็กเนื้ออัลปาก้าหลายร้านอยู่ ราคาแพงนะไม่ต่ำกว่า 40 sol (400 บาท) ราคาอาหารที่นี่เฉลี่ยแพงกว่าที่ Cusco อีกคือ 25-50 sol ถ้าอยากได้อาหารถูกหน่อยให้เดินเข้าซอยย่อยจากถนนนี้ลงไปทางแม่น้ำจะมีร้านอาหารจีนอยู่ 2-3 ร้าน ราคา 15-20 sol
มื้อนี้ที่ร้าน Wisslla’s เป็นเซ็ต 3 คอร์ส + เครื่องดื่ม เลือกเมนูแต่ละคอร์สได้ราคา 20 sol มีค่า service charge อีกนิดหน่อย ถือว่าคุ้มมากครับ
คืนนี้ต้องรีบนอนเร็วหน่อยเพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นตี 5 ครึ่งเพื่อไปขึ้นรถบัสก่อน 6 โมงเช้า
วันที่ 5 ในเปรู
เช้านี้ฝนตกหนักพอสมควร แต่เราก็ไม่หวั่นเพราะเตรียมเสื้อกันลมกันฝนอย่างดีมาและมั่นใจว่าสายหน่อยฝนจะหยุดตกและอากาศจะดีขึ้น #หวังแต้มบุญ 😀
เดินไปท่ารถบัสริมแม่น้ำโชว์ตั๋วที่ซื้อมาเมื่อคืนพร้อมสำเนาพาสปอร์ตแล้วขึ้นรถบัส (Consettur) ตอน 6 โมงเช้าไป Machu Picchu พอรถเต็มก็ออก เดี๋ยวคันใหม่ก็มาเรื่อยๆ ถ้ามาในช่วง high season ยิ่งสายคนยิ่งต่อคิวยาวนะ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ How to get from Aguas Calientes to Machu Picchu
นั่งรถขึ้นเขาประมาณ 25 นาทีก็ถึงทางเข้า Machu Picchu หมอกยังจัดอยู่เลย ฮือๆ
ห้ามนำอาหารเข้าไปนะครับ แต่พกน้ำเข้าไปได้ ข้างในไม่มีอะไรขาย ต้องกินอาหารเช้าให้เรียบร้อยก่อนเลย
การเข้าชม Machu Picchu ควรหรือแทบจะต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ เราซื้อล่วงหน้า 2 เดือนครับ (ควรซื้อก่อนอย่างน้อย 1 เดือน) โดยตั๋วแบบ Machu Picchu Only – Morning shift ราคา 70 USD + ค่า commission 6% = 74.20 USD (ประมาณ 2,460 บาท)
ตั๋วประเภทนี้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละ 2,500 คน โดยแบ่งเป็น 2 รอบต่อวัน คือ 06.00-12.00 น. และ 12.00-17.30 น.
อ่านรายละเอียดได้ที่ Machu Picchu Only ticket
ซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ที่ www.ticketmachupicchu.com
ปฏิทินที่ยังโชว์ตัวเลขอยู่แปลว่า “ว่างอยู่”
เราเลือกรอบเช้าเลย เลือกแค่แบบ Machu Picchu Only ก็ได้ภาพแบบนี้แล้วครับ
ส่วนตั๋ว Machu Picchu + Mountain มีวันละ 2 รอบ 07.00-08.00 น. และ 09.00-10.00 น. ราคา 86 USD ยังไม่รวมค่า commission จำกัดจำนวนรอบละๆ 400 คน
ยอดเขา Machu Picchu อยู่ที่ความสูง 3,082 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องขึ้นเขาจากความสูงระดับแรกอีก 652 เมตรและคาดว่าทางเดินมีทั้งหมดประมาณ 1,600 ขั้น ความยากของการปีนเขาอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อถึงยอดเขาจะได้เห็นเมืองอินคาโบราณและแคนยอนของแม่น้ำ Vilcanota อยู่เบื้องล่าง รอบๆ คือภูเขา Cordillera Vilcabamba ที่มียอดเขา Salkantay สูงถึง 6,271 เมตร และยอดเขา Huayna Picchu
ดูรายละเอียดได้ที่ Machu Picchu + Mountain ticket
ถ้าอยากปีนเขา Huayna Picchu (Waynapicchu) เพื่อชมวิวมาชูปิกชูจากยอดเขาสูง ควรไปตั้งแต่ 6 โมงเช้า และขึ้นเขา Huayna Picchu ได้ตั้งแต่ 07.00-08.00 น. อยู่บนมาชูปิกชูได้ถึงเที่ยง หรือ 10.00-11.00 น. อยู่บนมาชูปิกชูได้ถึงบ่ายโมง จำกัดจำนวน 200 คนต่อรอบ
ทางเดินขึ้นเป็นบันไดก้อนหินสูงและชัน ต้องใช้กำลังมาก ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบ hiking ขึ้นเขาเดินป่า เมื่อขึ้นไปถึงแล้วมองลงมาจะเห็นผังเมืองโบราณเป็นรูปนกแร้งโดยมีเขามาชูปิกชูอยู่ด้านหลัง
ดูรายละเอียดได้ที่ Huayna Picchu ticket
โชคดีที่เราขอเก็บแรงไว้เดินขึ้นเขา Rainbow Mountain บนความสูง 5,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในวันพรุ่งนี้ เพราะวันนี้ฝนตกเฉอะแฉะทำให้เดินขึ้น Huayna Picchu (Wayna) ได้ลำบาก และเมื่อขึ้นไปถึงแล้วก็มองไม่เห็นอะไรอยู่ดีเพราะหมอกหนาทึบตลอด 😉
เมื่อซื้อตั๋วแล้วต้องส่งไฟล์หน้าพาสปอร์ตของทุกคนที่จะขึ้นมาชูปิกชู พร้อมแจ้งวันที่จะเดินทางถึงประเทศเปรูที่ [email protected] และเมื่อเดินทางถึงประเทศเปรูแล้วให้ถ่ายรูปหรือสแกน ANDEAN MIGRATION CARD (TAM) ที่ตม. จะให้ตอนผ่านเข้าประเทศ ถ้าไม่ได้รับก็ให้ส่งถ่ายรูปหรือสแกนพาสปอร์ตหน้าที่มีตราสแตมป์เข้าเปรูแทนได้
ข้อมูลทั่วไปที่มีประโยชน์
High Season ของมาชูปิกชูคือในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือนพ.ค.-ต.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเดือนมิ.ย.-ส.ค. จะมีนักท่องเที่ยวเยอะที่สุด โดยเดือนมิ.ย.-ก.ย. คือช่วงฤดูหนาวของซีกโลกใต้เส้นศูนย์สูตร ท้องฟ้ามักจะสดใสตอนกลางวันแต่อากาศจะหนาวจัดตอนกลางคืนโดยเฉพาะเดือนมิ.ย. และ ก.ค. ส่วนเดือนพ.ย.-เม.ย. คือฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนมีมากตั้งแต่เดือนธ.ค.-มี.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 18-20 องศาเซลเซียส เดือนที่ฝนตกบ่อยที่สุดคือม.ค.-ก.พ. ช่วงเช้าอากาศจะแห้งแต่มีเมฆซึ่งจะกลายเป็นฝนตกในช่วงบ่าย แต่ค่าตั๋วเครื่องบินและโรงแรมจะแพงขึ้นในช่วงกลางเดือนธ.ค.-กลางม.ค. ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.frommers.com
สภาพฝนตกและหมอกลงที่เราโดนตอนขึ้นไปถึงครับ
Machu Picchu กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกหลังจาก Hiram Bingham นักสำรวจชาวอเมริกันได้ค้นพบ “The lost city of the Incas” หรือเมืองสาบสูญแห่งอินคาบนเทือกเขาสูงที่ความสูง 2,430 เมตรจากระดับน้ำทะเลเมื่อปีค.ศ. 1911 จากนั้นในปีค.ศ. 1983 มาชูปิกชูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การ UNESCO และปีค.ศ. 2007 ก็ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่
นักโบราณคดีเชื่อกันว่าจักรพรรดิ Pachacútec (Pachacuti) แห่งจักรวรรดิอินคาเป็นผู้สร้างเมืองโบราณมาชูปิกชูในราวปีค.ศ. 1438-1472 มาชูปิกชูถูกปล่อยทิ้งร้างนานนับร้อยปีเนื่องจากชาวสเปนได้เข้ามาล่าอาณานิคมและเข่นฆ่าชาวอินคา เมืองอินคาเลยกลายเป็นเมืองร้างหลงเหลือเป็นซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา
ตอนเราไปถึงหมอกหนาจัดจนมองไม่เห็นภูเขาสัญลักษณ์ของมาชูปิกชูเลย ต้องฆ่าเวลารอให้ท้องฟ้าดีขึ้นด้วยการเดินเข้าไปในเมืองโบราณ (คนละทางกับป้ายชี้บอกทางไป Wayna) ก่อนเพราะเดินขึ้นไปยัง guard house เพื่อถ่ายรูปมุมเอกลักษณ์ตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
Ciudadela de Machu Picchu (Citadel of Machu Picchu) คือสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของชาวอินคาและของโลก ในอาณาบริเวณของป้อมปราการเมืองโบราณมาชูปิกชูมีสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ เช่น Intiwatana Temple of the Three Windows (Intihuatana), Sun Temple, Temple of the Condor, Royal Palace, Guardian’s House, The Sacred Rock ถ้าต้องการข้อมูลแบบจริงจังก็สามารถจ้างไกด์ทัวร์ที่หน้าทางเข้าได้นะครับ
8 โมงครึ่ง ฝนเริ่มเบาลง ท้องฟ้าใสขึ้นเป็นบางจังหวะ เดินกลับไปที่ป้ายบอกทางขึ้นไปยัง guard house
เท่าที่เดินหามุมถ่ายรูปจนเรียกว่าทั่ว เราลงความเห็นว่าจุดถ่ายรูปตรง guard house คือจุดที่ดีที่สุดเพราะอยู่ในตำแหน่งที่สูงและมีที่กว้างเพียงพอ แต่ถ้าขึ้นมาสายสัก 9 โมงกว่า รับรองว่าคนเพียบ ยิ่งมาช่วง high season เรียกว่าคนเยอะเป็นหนอน เราจึงเสี่ยงมาในช่วงปลายฝนและเลือกขึ้นรอบเช้าก่อนที่นักท่องเที่ยวที่มาเองและมากับทัวร์จะมาถึง
เราอยากได้ภาพแบบมีหมอกจางๆ ปกคลุมยอดเขาและมีแสงอาทิตย์ส่องลงมาที่เมืองโบราณด้านล่างมากกว่าฟ้าใสๆ แดดดีๆ เพราะมันได้อารมณ์ของเมืองลี้ลับในหุบเขาสูงทะลุชั้นเมฆดีครับ แล้วมันก็เป๊ะตามที่หวังไว้เลย
หามุมถ่ายรูปตรงอื่นบ้าง เดินไปทาง Intipunku (Puerta del Sol) หรือ Sun Gate ก็เจอเจ้าตัวนี้ เท่าที่ดูรูปร่างหน้าตาแล้วน่าจะเป็นตัวลามะนะครับ ไม่แน่ใจเหมือนกัน
เดินวนเวียนอยู่แถว guard house รอให้ฟ้าโปร่งกว่านี้ ประมาณ 10 โมงครึ่งแดดก็เริ่มออก อากาศเริ่มร้อน เดินหาจุดถ่ายรูปรัวๆๆ จนถึงเกือบเที่ยงเลย
จัดรูปไปเยอะๆ ดูให้เกิดกิเลสซะ 55
ก่อนเที่ยง เดินลงออกประตูไปขึ้นรถบัสลงเขากลับ Aguas Calientes
เดินไปกินข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารจีน พอกินเสร็จฝนรอบบ่ายก็ตกหนักอีกระลอก เลยต้องกลับไปเอาเป้ที่ฝากไว้ตั้งแต่เช้าและนั่งรอฝนเบาลงที่ hostal อดไปเดินเล่นที่จัตุรัสกลางเมืองเลย
ก่อนเวลารถไฟออก 40 นาที เดินไป Estación de Machu Picchu เพื่อเช็คอินและรอขึ้นรถไฟ PeruRail ล่วงหน้า 30 นาที
ขากลับ Cusco เราเลือกใช้รถไฟของ PeruRail เพราะออกเร็วกว่า Inca Rail และถึง Cusco เร็วกว่าเกือบชั่วโมง
เราซื้อตั๋วทางออนไลน์ล่วงหน้า 2 เดือน ค่าตั๋วแบบ Biomodal (รถไฟ Machu Picchu – Ollantaytambo + รถบัส Ollantaytambo – Cusco) ราคา 70 USD (225.26 sol) หรือ 2,300 บาท
เช็คตารางเวลา ราคาตั๋ว และซื้อล่วงหน้าได้ที่ PeruRail
ตารางรถไฟของ Inca Rail ออก 16.12 น.
รถไฟของ PeruRail มี 3 ขบวน คือ Expedition ที่มีราคาถูกสุด Vistadome ราคาแพงขึ้นมาพอสมควร และ Hiram Bingham ขบวนหรูหรา ราคาร่วมหมื่นบาท
เวลา 15.20 น. ที่เราเลือกคือขบวน Expedition 34
รถไฟจะไปสุดทางที่สถานี Ollantaytambo เจ้าหน้าที่พาเดินไปขึ้นรถบัส ถ้าใครซื้อตั๋วรถไฟมาถึงแค่ Ollantaytambo ก็สามารถเรียกแท็กซี่ที่จอดรออยู่เพียบหรือรถตู้วินกลับ Cusco ได้ แต่ผมไม่รู้ราคานะครับ

ทุ่มครึ่ง รถบัสเข้าจอดที่สถานีรถไฟ Estación Wanchaq ห่างจากจัตุรัสกลางเมือง Plaza Mayor ราว 1.4 กิโลเมตร และไกลจากโรงแรม Novotel Cusco ที่เราพักประมาณ 1 กิโลเมตร
ตอนนั้นฝนตกและมืดมาก โบกแท็กซี่กลับโรงแรมเลยครับ ต่อค่าแท็กซี่ได้ 8 sol (จริงๆ ไม่น่าเกิน 7 sol นะ)
หาซื้อพิซซ่ากลับไปกินที่โรงแรมและขนมปังอันละ 5-10 sol หลายอันเตรียมไปกินระหว่างเดินเขาไปชม Rainbow Mountain วันพรุ่งนี้
สรุปค่าเดินทางทั้งหมดจาก Cusco ถึง Machu Picchu จนกลับมาที่ Cusco ให้ชัดๆ อีกครั้งตามนี้
- ค่าทัวร์ Sacred Valley จาก Cusco ถึง Ollantaytambo รวมอาหารกลางวัน + Cusco Tourist Ticket + ค่าเข้าเหมืองเกลือ 85 + 70 + 10 sol = 1,650 บาท
- ค่าตั๋วรถไฟ Ollantaytambo – Aguas Calientes (Machu Picchu) 79 USD = 2,600 บาท
- ค่ารถบัสขึ้นลง Aguas Calientes – Machu Picchu 24 USD = 785 บาท
- ค่าเข้าแบบ Machu Picchu Only 74.20 USD = 2,460 บาท
- ค่าตั๋วรถไฟ+รถบัส Aguas Calientes (Machu Picchu) – Cusco 70 USD = 2,300 บาท
รวม 9,795 บาท (ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไปคือ 1 USD = 32.50 – 33 บาท)
*ห้ามคัดลอกหรือดัดแปลงข้อมูลและรูปภาพเพื่อนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต