ทริปแบบอยากเที่ยวเองเอเชียบ้างในปีนี้ลงเอยที่ประเทศ Kyrgyzstan ครับ

ตอนแรกที่คิดจะไปเที่ยวคีร์กีซสถานก็เพราะเหตุผลง่ายๆ คือ “ขอวีซ่า on arrival” ได้ ไม่ต้องเตรียมตัวเตรียมเอกสารอะไรให้วุ่นก่อนไป
แต่พอได้ไปแล้ว ถึงกับอึ้งในความสวยงามของธรรมชาติอันบริสุทธิ์จนต้องบอกเลยว่า “เซอร์ไพรส์มากกกกก”
อ่านวิธีการเดินทางไป การขอวีซ่า การเดินทางภายในประเทศ ฤดูน่าเที่ยว และอื่นๆ ได้ที่ ข้อควรรู้ก่อนไปเที่ยวเอง “คีร์กีซสถาน”
เราเลือกใช้วิธีการขอวีซ่า online ล่วงหน้าทาง www.evisa.e-gov.kg กรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ไม่เยอะ ไม่ยุ่งยาก ชำระค่าวีซ่าผ่านบัตรเครดิต โดยวีซ่าแบบ Single Entry 30 วัน ราคา 2,829.20 KGS (som) หรือ 41.20 USD ราคาแต่ละวันไม่เท่ากัน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,300 บาท (สามารถขอ visa on arrival ที่สนามบินก็ได้ แต่ขอที่ชายแดนทางบกไม่ได้) รอ 2-3 วันก็ได้รับอีเมลอนุมัติวีซ่าแล้วครับ
สำหรับสายการบินที่เราเลือกใช้คือ Air Astana สายการบินของประเทศคาซัคสถานซึ่งสะดวกและรวดเร็วที่สุด ใช้เวลาบิน 9-10 ชั่วโมง รวมเวลาต่อเครื่องที่สนามบิน Almaty หรือ Astana ถ้าอยากแวะเที่ยว Kazakhstan ด้วยก็ขอวีซ่า transit ได้ไม่ยาก ค่าวีซ่า 20 USD อยู่ในคาซัคสถานได้ไม่เกิน 5 วัน เดี๋ยวรายละเอียดจะเขียนบอกในรีวิวเที่ยวประเทศคาซัคสถานนะครับ
แต่ละช่วงเดือนมีไฟลท์ Bangkok – Almaty – Bishkek และ Bangkok – Astana – Bishkek แตกต่างกัน
สามารถเช็ควันและเวลาเที่ยวบินได้ที่ Air Astana หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Thai Star Air ตัวแทนจำหน่ายตั๋วของสายการบิน
โทร. 0 2367 5301, 0 2367 5314-17
มาดูหน้าตาเครื่องขาไปจากกรุงเทพฯ กันหน่อย ใหม่เอี่ยม เนียนกริ๊บ
ทริปนี้เราทำประกันการเดินทางไปด้วยเหมือนทุกๆ ทริปเพื่อความมั่นใจและอุ่นใจครับ เพราะสภาพถนนที่ไม่ค่อยดี บางช่วงเป็นเส้นทางคดเคี้ยวข้ามภูเขาสูงหลายพันเมตร อากาศที่แปรปรวนร้อนหนาวได้ตลอดเวลา และจะทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ขี่ม้าขึ้นเขาชมเมือง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้
โดยประกันการเดินทางที่ตอบโจทย์มากๆ ก็คือ “ประกันเดินทางต่างประเทศ พลัส เปิด-ปิด” ของไทยวิวัฒน์ ที่ซื้อง่าย สะดวก เป็นประกันที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างทริปเองได้ตามต้องการ ถ้ามีเหตุต้องกลับก่อนก็สามารถลดจำนวนวันเดินทางได้ หรือถ้าจะอยู่ต่ออีกก็เพิ่มวันได้เช่นกัน เดินทางกี่วันก็จ่ายตามจริงเท่านั้น วันเหลือเก็บไว้ใช้ในทริปต่อไปได้ รวมทั้งสามารถเช็ครายละเอียดความคุ้มครองและโทรแจ้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์และการเดินทางทั่วโลกผ่านแอพพลิเคชั่น Thaivivat Travel ได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุและเจ็บป่วย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทั่วโลกได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน โดยคุ้มครองค่ารักษาสูงสุดถึง 5 ล้านบาท
ข้อแตกต่างของประกันการเดินทางของไทยวิวัฒน์คือเป็นที่เดียวที่คุ้มครองการบาดเจ็บจากกีฬาเสี่ยงภัย เช่น ดำน้ำ สกี บันจี้จั๊มพ์ ไม่มีประเทศที่ยกเว้นการคุ้มครอง และไม่จำกัดอายุผู้เดินทางด้วย ครบครันคุ้มค่าจริงๆ ครับ
วิธีการซื้อก็ง่ายๆ คือ
เข้า www.thaivivat.co.th ไปซื้อประกันโดยเลือกความคุ้มครองแบบเปิด-ปิด เลือกแผนประกันภัยและจำนวนวันคุ้มครอง 10 / 20 / 30 วัน โดยใช้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี
เลือกแผนความคุ้มครองแบบเบสิค ซิลเวอร์ โกลด์ หรือแพลททินั่ม ตามความพอใจ
เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้วก็จะได้รับอีเมลแจ้ง username/password
ดาวน์โหลดแอพฯ Thaivivat Travel แล้ว Log in ด้วย username/password
กรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ และเปลี่ยน password หลังจาก register แล้วเลือก Create your trip ที่เมนูด้านล่าง เลือกประเทศที่จะเดินทางไป วันออกเดินทาง และวันเดินทางกลับ
เช็คสถานะดูยอดวันที่ใช้และยอดวันคงเหลือ แก้ไขทริป เช่น เพิ่ม-ลดวันเดินทาง หรือยกเลิกทริป
ถ้าต้องการซื้อวันคุ้มครองเพิ่มก็เลือกเมนู Top up ด้านล่าง สามารถซื้อผ่านแอพฯ ได้แม้ว่าจะกำลังเดินทางอยู่ต่างประเทศ
เช็ครายละเอียดความคุ้มครองได้ที่หน้าข้อมูลส่วนตัว (Profile) และโทรแจ้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์และการเดินทางทั่วโลกผ่านแอพฯ ที่ไอคอนรูปโทรศัพท์ที่มุมขวาบนของทุกหน้านะครับ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaivivat.co.th หรือโทรสอบถามที่ 1231 กด 2921
วันแรกใน Kyrgyzstan
เราเดินทางถึง Manas el aralıq aeroportu (Манас эл аралык аэропорту) หรือ Manas International Airport กรุง Bishkek ประเทศ Kyrgyzstan ในเวลา 16.55 น. (เวลาของคีร์กีซสถานช้ากว่าเวลาประเทศไทย 1 ชั่วโมง เหมือนเวลาคาซัคสถาน)
สนามบินนานาชาติ Manas ตั้งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากศูนย์กลางเมืองราว 28 กิโลเมตร
ที่ชั้น 2 ของอาคารสนามบินมีร้านแลกเงินอยู่ เข้าไปแลกเงินเล็กน้อยคนละ 50 USD ได้เงินมา 3,350 Kyrgyzstani som (Кыргыз сом) หรือ som (сом) รหัสคือ KGS
อัตราแลกเปลี่ยนคือ 1 USD = 67 KGS หรือ 1 KGS = 0.46 บาท โดยประมาณ
เรียก Manas Airport Taxi (Taxi Manas) เข้าตัวเมือง Bishkek ราคา 600 KGS (9 USD) เรียกแท็กซี่ข้างนอกอาจถูกโก่งราคาได้ นั่งเข้าศูนย์กลางเมืองประมาณ 40 นาที
เช็คข้อมูลได้ที่ www.airport.kg/services/taxi
ถ้าจะนั่งรถสาธารณะก็มี marshrutka หรือรถตู้ประจำทางสาย 380 (ไม่มีที่ไว้กระเป๋าเดินทางใบใหญ่) ไปลงที่จุดตัดกันของ Chuy prospekt (Чуй проспект) หรือ Chuy Avenue (ถนนสายหลักของเมือง) กับ Jash Gvardiya Boulevard (Жаш Гвардия бульвары) ซึ่งห่างจาก Ala-Too ayanty (Ала-тоо аянты) จัตุรัสกลางเมืองประมาณ 2.2 กิโลเมตร ค่ารถ 50 KGS ต่อรถเมล์สาย 7 (A7), 38 (A38), 42 (A42), รถเมล์ trolley สาย 16 (T16) ค่ารถ 8 KGS หรือรถ marshrutka สาย 122, 136, 166, 185, 199, 211, 217, 219, 243, 254 ค่ารถ 10 KGS ไปยัง Ala-Too ayanty น่าจะใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมงเพราะรถจอดป้ายตลอดเวลา
เช็คเส้นทางรถเมล์และ marshrutka สายต่างๆ ได้ที่ http://bus.kg

เข้าเช็คอินที่ Hotel Avenue ใกล้จุดตัดกันของถนน Chuy กับ Isanov ทำเลอยู่ในย่านการค้าติดถนนสายหลักของเมือง ร้านอาหารเพียบ ซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่อยู่ใกล้ๆ เลย ราคาห้องพักโคตรถูกแค่คืนละ 30 USD รวมอาหารเช้าด้วย
เดินหาอะไรกินแถวๆ โรงแรมนี่แหละ อาหารมีให้เลือกหลากหลายระดับ เฉลี่ยค่าอาหารในร้านดีๆ มื้อละ 150-250 KGS (som)
ค้างคืนที่ Bishkek 1 คืน
วันที่ 2 (วันเที่ยววันแรก)
เรานัด private driver (ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เจ้าที่ได้มาตรฐานน่าเชื่อถือ) ชื่อ Azamat ซึ่งเป็นคนขับและไกด์ของ Iron Horse Nomads มารับที่โรงแรมตอน 8 โมงครึ่ง
การเดินทางในประเทศคีร์กีซสถานโดยรถสาธารณะไม่ค่อยสะดวกเพราะสภาพถนนที่ค่อนข้างแย่และภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูง ในฤดูหนาวมีหิมะตกหนายิ่งทำให้เดินทางลำบากมากขึ้น เท่าที่เคยหาข้อมูล รถบัสขนาดใหญ่จะให้บริการในเส้นทางระยะไกล เช่น ไปคาซัคสถานและจีน ส่วนการเดินทางระหว่างเมือง/หมู่บ้านต่างๆ ภายในประเทศจะเป็น marshrutka หรือรถตู้ประจำทางซึ่งใช้เวลาเดินทางนาน ไม่มีที่เก็บกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ และไม่สามารถเข้าถึงหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญของประเทศได้ รถตู้จะผ่านเมือง/หมู่บ้านตามทางหลวงสายหลักและจอดตามเมืองหลักๆ แล้วต้องเรียกแท็กซี่หรือเดินต่ออีกไกลพอสมควรครับ คนที่พูดภาษารัสเซียได้ถึงพอจะใช้วิธีนี้ได้ครับ
Iron Horse Nomads คือบริษัทรถเช่าแต่มีบริการคนขับรถและไกด์ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีด้วย โดยคิดค่าบริการวันละ 175-225 USD แล้วแต่ประเภทรถ (ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่ากินอยู่คนขับ และค่าเข้าสถานที่) + ค่าที่พักและอาหารเช้า คนละ 35 USD ต่อวัน ราคานี้ยังไม่รวมค่าอาหารกลางวันและเย็นของลูกค้าและค่ากิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่ม้าประมาณคนละ 40-50 USD ดูโชว์นกอินทรี (Eagle Hunting) คนละ 50 USD สามารถวางแผนเส้นทางเองแล้วปรึกษาความเป็นไปได้กับทางบริษัทหรือให้ช่วยจัดเส้นทางให้เลยก็ได้ ติดต่อสอบถามได้ที่ [email protected]
เราไปกัน 2 คน จ่ายคนละ 135 USD ต่อวัน x 4 วัน = 540 USD หรือประมาณ 17,300 บาท (ถ้าไป 3 คนก็จ่ายวันละ 305 USD หาร 3 ถ้าไป 4 คนก็ตกคนละ 85 USD ต่อวัน) ไม่รวมค่าแท็กซี่ขาเข้าเมืองและค่าอาหารกลางวัน+เย็นทุกมื้อซึ่งใช้เงินสด 50 USD แลกเป็นเงิน som ไว้ใช้จ่าย ค่าโรงแรมที่ Bishkek 1 คืน จ่ายด้วยบัตรเครดิตคนละประมาณ 500 บาท และค่ากิจกรรม 90 USD
เช้าวันนี้ Azamat จะขับรถพาเที่ยวในเมือง Bishkek ก่อน 1-2 ชั่วโมง
Bishkek (Бишке́к) หรือ Bişkek หรือชื่อเดิมคือ Frunze กรุงบิชเก็กคือเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของ Kyrgyzstan (Кыргызстан) ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกทะเลในเอเชียกลางซึ่งแยกตัวเป็นอิสระจากอดีตสหภาพโซเวียต (USSR) เมื่อปีค.ศ. 1991
ในเมืองไม่มีสถานที่สวยงามอะไรครับ อาคารสำคัญๆ อยู่บน Chuy prospekt (Чуй проспект) หรือ Chuy Avenue ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมืองและถนนอื่นใกล้ๆ ถนนชุย
ห่างจากโรงแรมไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตรเป็นที่ตั้งของ Meriya Bishkeka (Мэрия Бишкека) หรือ Bishkek City Hall (Бишкек шаарынын мэриясы) อาคารที่ว่าการเมืองบิชเก็ก
อาคารตรงข้ามฝั่งถนน Chuy คือ Filarmoniya (Филармония) หรือ Kyrgyz National Philharmonic Hall (Philarmonic Hall Named Toktogul Satylganov) ซึ่งมี Statuya Manas (Статуя Манаса) หรือรูปปั้น Manas (Манас) กวีคนสำคัญของประเทศอยู่ข้างหน้า
ไกด์ขับรถพาไปยัง Ala-Too ayanty (Ала-тоо аянты) หรือ Ala-Too Square จัตุรัสกลางเมืองที่สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1984 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 60 ปีของ Kirghiz Soviet Socialist Republic (Kirghiz SSR) หรือสาธารณรัฐคีร์กิซซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต
ถ้าใช้รถสาธารณะก็นั่ง marshrutka (รถตู้) สาย 122, 134, 135, 166, 211 จากป้ายที่ถนน Chuy ค่ารถ 10 KGS หรือเดินตรงตามถนน Chuy ราว 1.5 กิโลเมตรก็ได้
เดิมทีตรงกลางจัตุรัสอลาทอลเป็นที่ตั้งของ Statuya V.I. Lenina (Статуя В.И. Ленина) หรือรูปปั้นของ Vladimir Lenin อดีตผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียต คนทั่วไปจึงเรียกจัตุรัสแห่งนี้ว่า Lenin Square ต่อมาในปีค.ศ. 2003 ได้มีการย้ายรูปปั้นเลนินเดิมไปยังจัตุรัสที่เล็กกว่าซึ่งอยู่ด้านหลังอาคาร Kyrgyz Mamlekettik Taryh muzeyi (Kyrgyz State History Museum) ตรงข้ามกับทำเนียบประธานาธิบดีหลังเก่า ใน google คือ Kyrgyz Republic Government (Правительство Кыргызской Республики)
หลังจากนั้นได้สร้างรูปปั้นใหม่ที่เรียกว่า Erkindik (Freedom) มาแทนที่รูปปั้นเลนิน และในปีค.ศ. 2011 ก็ได้นำรูปปั้น Manas (Манас) มาแทนที่รูปปั้น Erkindik เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 20 ปีที่ประเทศคีร์กีซสถานได้รับเอกราช
ด้านหลังรูปปั้น Manas คืออาคาร Kyrgyz Mamlekettik Taryh muzeyi (Кыргыз Мамлекеттик Тарых музейи) หรือ Kyrgyz State History Museum หรือ Lenin Museum ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ค่าเข้าชม 150 KGS ปิดทุกวันจันทร์
ตรงข้ามกับ Kyrgyz State History Museum คืออาคารหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของคีร์กีซสถาน (Министерство сельского хозяйства, пищевой промышленности и мелиорации Кыргызской Республики) และ Ugns Po Pervomayskomu Rayonu G. Bishkek (Бишкек ш. Биринчи май районунун МСК башкармалыгы) หน่วยงานเกี่ยวกับน้ำมันของประเทศ
เดินตามถนน Chuy ราว 300 เมตรไปยัง Kyrgyz Respublikasynyn Jogorku Kengeshi (Кыргыз Республикасынын Жогорку Кеңеши) หรือ White House คืออาคารรัฐสภาและที่ทำงานของประธานาธิบดีแห่งคีร์กีซสถาน ในอดีตเคยเป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง Kirghiz Soviet Socialist Republic (Kirghiz SSR) มาก่อน
หมดแล้วครับ 55 เที่ยวเมืองหลวงแค่นี้พอแล้ว
โปรแกรมต่อไปคือ Ala-Archa uluttuk tabiyat park (Ала-Арча улуттук табият парк) หรือ Ala-Archa National Park อุทยานแห่งชาติในเทือกเขา Tengir-Too (Теңир-Тоо) หรือภูเขาเทียนชาน (Tian Shan) ที่เรารู้จักกัน ห่างจากกรุง Bishkek ลงมาทางใต้ราว 40 กิโลเมตร ขับรถประมาณ 35 นาที ค่าเข้าอุทยานเท่าไหร่ไม่รู้ครับ มันรวมอยู่ใน 200 USD แล้ว

อุทยานแห่งชาตินี้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากทางการตั้งแต่ปีค.ศ. 1976 โดยในยุคโซเวียตอนุญาตให้เฉพาะแขก VIP เท่านั้นที่สามารถเข้ามาบริเวณนี้ได้ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมกลางแจ้งยอดนิยมของชาวคีร์กีซ
นักท่องเที่ยวสาย hiking สามารถเลือกเส้นทางเดินป่าได้ตั้งแต่ 4-15 กิโลเมตร เราแวะมาเที่ยวไม่นานเลยขอเดินแค่ระยะแรกพอ ใช้เวลาเดินประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดถ่ายรูปตรงนี้
เที่ยงนิดๆ นั่งรถกลับเข้าเมือง Bishkkek ไปกินอาหารกลางวันที่ร้านดังชื่อ Halil Ibrahim ราคาอาหารอยู่ที่จานละ 200-220 KSG (ประมาณ 100 บาท) มีภาษีอีก 10% หน้าตาอาหารออกไปทางตุรกีครับ
จากนั้น เดินทางไปทางทิศตะวันตกและใต้ข้ามเขาสูงในเส้นทางที่เรียกว่า Töö Ashuu Pass (Төө-Ашуу) หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า camel pass ทางหลวงที่ตัดผ่านแนวเขา Kyrgyz Alatau ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา Tian Shan บนระดับความสูงกว่า 3,500 เมตร เชื่อมต่อพื้นที่หุบเขา Chuy, Kochkor, Suusamyr และ Talas โดยอยู่ในเส้นทาง European route E010 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักระหว่างกรุง Bishkek กับเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอย่าง Osh (Ош)
พอรถลอดอุโมงค์ทะลุภูเขายาวเป็นกิโลก็เริ่มลดระดับความสูงลงสู่ Suusamyr Öröönü (Suusamyr Valley)
ตรงนี้มีสกีรีสอร์ทอยู่ข้างล่าง แต่ต้นเดือนพฤษภาหมดซีซั่นแล้วครับ
Suusamyr Öröönü (Суусамыр өрөөнү) หรือ Suusamyr Valley คือหุบเขาความสูง 2,000-2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนแนวเขา Suusamyr Too กับ Kyrgyz Ala-Too ส่วนหนึ่งของภูเขา Tian Shan ซึ่งในช่วงหน้าร้อนจะงดงามด้วยทุ่งดอกไม้มากมาย
จอดรถลงไปถ่ายรูปม้ากับทุ่งหญ้าสเตปป์ซึ่งเป็นภาพเอกลักษณ์หนึ่งของคีร์กีซสถานใกล้หมู่บ้านซุสซามูร์
เย็นๆ เดินทางถึง Kyzyl-Oi (Кызыл-Ой) หมู่บ้านแบบชาวคีร์กีซดั้งเดิมบนที่ราบที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง หมู่บ้าน
คีซีลโอยได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่หนาวที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ในฤดูหนาวอุณหภูมิอาจติดลบถึง 40 องศา

คืนนี้เราจะพักที่โฮมสเตย์ชื่อ Katya เป็นบ้านของชาวบ้านที่เปิดให้เช่าพักได้ ผมไม่รู้ราคานะครับเพราะ Iron Horse Nomads คิดเหมารวมไปแล้ว
ภายในบ้านแบ่งเป็นห้องกินข้าว ห้องนอน 3 ห้อง ห้องอาบน้ำ และห้องส้วม อยู่ได้ ไม่ลำบาก แต่ต้องเตรียมสบู่ แชมพู และผ้าเช็ดตัว มาเองนะครับ
บรรยากาศหลังบ้านริมฝั่งแม่น้ำ Kokemeren ชิลล์ดีครับ
เย็นนี้ ป้า Katya จัดอาหารและของหวานมาเต็มโต๊ะครับ เมนูพื้นเมืองยอดนิยมของคนคีร์กีซคือ Plov เป็นข้าวผัดมันๆ + แครอท + เนื้อสัตว์ รสชาติโอเคเลย ค่าอาหารมื้อนี้คนละ 350 KGS ต้องจ่ายต่างหาก
ตอนกลางคืนที่นี่หนาวมากกก ต้องใส่เสื้อและกางเกง heattech นอน รู้สึกเหมือนนอนอยู่ในตู้เย็นเลย ขนาดมาในฤดูใบไม้ผลิแล้วนะเนี่ย
วันที่ 3
ช่วงเช้าเราออกไปขี่ม้าชมทัศนียภาพของธรรมชาติรอบๆ หมู่บ้าน Kyzyl-Oi โดยเฉพาะสีสันของดินสีแดงจากภูเขาที่ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของบ้านสำหรับม้า ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ขี่ม้าลงเขากลับถึงโฮมสเตย์ 10 โมงนิดๆ
ออกเดินทางต่อไปยัง Kochkor (Кочкор) หมู่บ้านขนาดใหญ่ในแคว้น Naryn ไม่ไกลจากทะเลสาบ Issyk-Kul ทางตะวันออกของประเทศ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แวะพักกินข้าวที่ร้าน Retro (Ретро) สั่งสเต็กเนื้อมาจานละ 220 KGS (ประมาณ 100 บาท)
ระหว่างทางจากหมู่บ้าน Kyzyl-Oi ถึง Kochkor มีทางเลี้ยวขวาเข้าไปยัง Songköl (Соңкөл) หรือ Son Kul ทะเลสาบซองกุลอันโด่งดังจากภาพ yurt หรือที่พักแบบกระโจมริมทะเลสาบที่มีฉากหลังเป็นภูเขาหิมะ แต่ช่วงต้นพฤษภาที่เรามานี้ทางอาจยังไม่เปิดเพราะยังเคลียร์หิมะที่หนาทึบในช่วงฤดูหนาวไม่เสร็จ และ yurt ยังไม่น่าจะสร้างเสร็จพร้อมให้บริการ ปกติจะเริ่มเข้าไปยังทะเลสาบได้ตั้งแต่กลางพ.ค. และเที่ยวได้ถึงเดือนตุลา แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือในฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ส.ค. ครับ ถ้าทางปิดก็ต้องย้อนกลับทางเดิมซึ่งไม่ใช่ใกล้ๆ หรือทางเปิดแล้วแต่ยังไม่มี yurt ทะเลสาบนี้ก็ดูธรรมดาๆ เราจึงสรุปว่าไม่เสี่ยงเข้าไปให้เสียเวลาเปล่า

จากหมู่บ้าน Kochkor นั่งรถต่ออีกไม่ไกลแวะถ่ายรูปสัตว์ที่หากินอยู่ริมอ่างเก็บน้ำชื่อ Orto Tokoy suu saktagychy (Орто-Токой Суу Сактагычы) หรือ Orto Tokoy Reservoir ซึ่งมีทั้งม้าและอูฐ โดยปกติจะไม่ค่อยพบเห็นอูฐอยู่ทั่วไปในคีร์กีซสถานครับ ส่วนมากแล้วอูฐจะอาศัยอยู่แถบๆ เมือง Naryn ทางทิศใต้ห่างไปราว 120 กิโลเมตร
4 โมงเย็น เดินทางต่อไปทางด้านใต้ของ Ysyk-Köl (Ысык-Көл) หรือ Issyk-Kul ซึ่งได้รับสมญานามว่า The Pearl of Central Asia เป็นทะเลสาบอัลไพน์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีความยาวจากทิศตะวันตกถึงตะวันออก 178 กิโลเมตร และจุดที่กว้างที่สุดคือ 60 กิโลเมตร
คำว่า Ysyk หรือ Issyk (อีสซีค) แปลว่า “ร้อน” เพราะทะเลสาบแห่งนี้ไม่เคยกลายเป็นน้ำแข็ง ส่วน Köl หรือ Kul (กุล) แปลว่า “ทะเลสาบ” นั่นเอง
ที่หมายของเราคือไปพักค้างคืนใน yurt (ยูท) ริมทะเลสาบที่ชื่อ Jurten Camp Almaluu Yurt (Алмалуу) ใกล้ Bökönbaev (Бөкөнбаев) หรือ Bokonbayevo หมู่บ้านขนาดใหญ่ที่สุดทางด้านใต้ของทะเลสาบ Issyk ซึ่งเป็นที่รู้จักการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่ยังคงฝึกนกอินทรีออกล่าเหยื่อซึ่งเป็นวิธีการที่สอบทอดรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน
ที่พักแบบกระโจมของชนเผ่าเร่ร่อนแถบเส้นทางสายไหมนี้สามารถจองเองผ่านเว็บไซต์จองที่พักทั่วไปได้ กระโจมสำหรับพัก 2 คน ราคาคืนละ 34 USD ต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่เราไม่ต้องจ่ายเองเพิ่มแล้วครับ
เย็นนี้ยังมีเวลาพอสมควร เลยให้ไกด์พาไปดูโชว์นกอินทรีล่าเหยื่อ (Salbouroun) หรือ Eagle Hunting ซะเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาตอนเช้าเพราะพรุ่งนี้มีโปรแกรมไฮไลต์เพียบ
นั่งรถไปแป๊บเดียวก็ถึงที่โล่งเหมาะสำหรับการโชว์ ลุงเจ้าของนกอินทรีทองเล่าให้ฟังว่ากลุ่มคนที่ฝึกนกอินทรีให้ล่าเหยื่อในคีร์กีซสถานมีอยู่ประมาณ 60 คน ส่วนในมองโกเลียและคาซัคสถานมีหลักร้อย วิธีการฝึกจะต้องไปจับลูกนกอินทรีจากรังในป่ามาเลี้ยงตั้งแต่เกิด เลี้ยงจนอายุ 15-20 ปีก็จะปล่อยกลับเข้าสู่ป่า นกอินทรีมีอายุยืนถึง 50 ปีเลย โดยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ น้ำหนักตัวตอนโตเต็มอยู่ที่ 4-5 กิโล ทางการคีร์กีซสถานอนุญาตให้ล่าเหยื่อได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น
เล่าจบก็เริ่มโชว์ครับ ลูกชายลุงเดินไปที่รถหยิบกระต่ายป่าตัวเบ้อเร่อมาวางที่พื้น ส่วนลุงเดินขึ้นเขาอย่างรวดเร็ว เจ้ากระต่ายผู้น่าสงสารคงไม่รู้ตัวว่ามันกำลังจะกลายเป็นเหยื่อเลยไม่เดินไปไหน แป๊บเดียวอินทรีก็ถลาร่อนลงมาตะปบเหยื่อที่รู้ตัวเมื่อสายแล้ว นักล่าเหยียบเหยื่อแน่นไม่ให้กระดุกกระดิกหนีแต่ยังไม่ได้จิกนะ
ตอนแรกเรายังคุยกับไกด์เลยว่านี่คือโชว์ล่าเหยื่อเฉยๆ เค้าฝึกให้จับแบบไม่ให้เหยื่อตาย กระต่ายไม่ได้ตายจริงใช่มั้ย? ไกด์บอกว่าใช่ แต่พอลุงมาเดินลงมาถึง เจ้าอินทรีก็เริ่มจิกเอาขนกระต่ายออก เหมือนต้องรอคำสั่งจากเจ้าของให้เริ่มจัดการเหยื่อได้ จิกหลายครั้งจนถึงกระดูกเห็นเนื้อสีชมพูๆ แล้วเจ้ากระต่ายป่าก็แน่นิ่งขาดใจตาย มันกินเนื้อกระต่ายอย่างเอร็ดอร่อย ลุงบอกว่ามันคือวัฏจักรของธรรมชาติ
ภาพตอนจิกกินดูน่ากลัวเกิ๊นครับ ไม่กล้าลงรูป กลัวกบว.เซ็นเซอร์ 555
โชว์ที่สอง ลุงวิ่งลากซากหมาจิ้งจอกแล้วให้ผู้ช่วยปล่อยนกอินทรีร่อนลงมาตะครุบเหยื่ออย่างแม่นยำ และปิดท้ายด้วยการให้เราไปถ่ายรูปกับพญาอินทรีผู้น่าเกรงขาม
จบโชว์อันน่าหวาดเสียว นั่งรถกลับกระโจม
พักที่นี่ก็เหมือนไฟท์บังคับว่าต้องกินอาหารเย็นของทางที่พัก ค่าอาหารหัวละ 450 KGS (ประมาณ 200 บาท) แพงกว่าราคาอาหารในร้านดีๆ พอสมควรเลย มื้อนี้ต้องจ่ายเพิ่มเองครับ
เมนูเนื้อนี้เรียกว่า dymdama อร่อยใช้ได้เลย
ตอนนั่งกินอยู่ก็คุยกับสองสามีภรรยาชาวสโลวีเนียว่าเดินทางมาที่นี่ยังไง เค้าตอบว่านั่ง marshrutka (รถตู้) จาก Zapadnyy Avtovokzal (Западный Автовокзал) หรือ Western Bus Station ในกรุง Bishkek ตั้งแต่เช้า มาลงที่หมู่บ้าน Tong (Тоң) แล้วโบกรถชาวบ้านต่อมาที่นี่ เค้าพูดภาษารัสเซียได้ถึงทำแบบนี้ได้ครับ พรุ่งนี้เค้าให้คนของ yurt หาทัวร์พาไป Skazka Canyon และที่เที่ยวฝั่งใต้ทะเลสาบ Issyk แล้วไปส่งที่เมือง Karakol ทางตะวันออกสุดของทะเลสาบ จากนั้นนั่ง marshrutka จาก Karakol ตอนเช้ากลับ Bishkek น่าจะใช้เวลาตีรวดประมาณ 6 ชั่วโมง ลำบากลำบนไม่เบาเลย
คืนนี้ไม่ต้องอาบน้ำนอนครับเพราะกระโจมห้องอาบน้ำยังสร้างไม่เสร็จดี ใช้ทิชชูเปียกเช็ดตัวเอา ส่วนห้องส้วมอยู่ข้างนอกและเป็นส้วมหลุมแบบเจาะพื้นเป็นรูให้นั่งยองๆ ขับถ่ายตามอัธยาศัย ไม่ต้องราดน้ำจ้า ไม่ต้องพูดถึงสภาพในหลุมและกลิ่น 5555 ไม่คิดจะถ่ายรูปมาให้ดูนะครับ
วันที่ 4
หลังรับประทานอาหารเช้าในกระโจมเสร็จ เรามุ่งหน้าไปยัง Kan’on Skazka (Каньон Сказка) หรือ Skazka canyon (ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร)
สกาซก้าคือแคนยอนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ ชื่อของแคนยอนนี้แปลความหมายตามภาษารัสเซียได้ว่า fairy tale หรือเทพนิยาย ด้วยภูมิประเทศที่มีรูปทรงและสีสันน่ามหัศจรรย์นั่นเอง โดยมีการตั้งชื่อในแต่ละส่วนของแคนยอนไม่ซ้ำกันอีกด้วย
เดินขึ้นภูเขาทรายแดงเหนื่อยเล็กน้อยครับ ทางค่อนข้างชันและลื่น
จากนั้นนั่งรถต่อไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปยัง Barskoon (Барскоон) บาร์สกอนคือหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงจากแหล่งน้ำพุร้อนและเส้นทาง trekking ท่ามกลางทิวทัศน์ของขุนเขา แวะถ่ายรูปอยู่ครึ่งชั่วโมงครับ
ไฮไลต์สำคัญที่สุดของทริปนี้คือ Jeti-Ögüz (Жети-өгүз) หมู่บ้านที่มีแท่งหินสีแดง 7 ยอดชื่อว่า Seven Bulls เป็นสัญลักษณ์ จาก Barskoon ต้องขับรถอีกประมาณ 70 กิโลเมตร
ขับรถขึ้นเขาด้านหลังหมู่บ้านไปถ่ายรูป Jeti-Ögüz Rocks ได้เลย
ทุ่งหญ้าบนนี้มีฝูงแกะมาหากินด้วย
นั่งรถลงเขาตรงลึกไปตามแนวเขาเลียบแม่น้ำ Jeti-Ögüz ไปหามุมถ่ายรูปธรรมชาติอันงดงามราวกับอยู่ใน
“สวิตเซอร์แลนด์”
เป็นไงความสวยสูสีกับสวิสมั้ยคร้าบ?
ถ่ายรูปกับ Azamat คนขับรถและไกด์ของเราในทริปนี้ซะหน่อย
บ่ายสองโมง ออกจากหมู่บ้านเจติโอกุซเดินทางเข้าสู่เมือง Karakol (Каракол) เมืองใหญ่อันดับ 4 ของประเทศซึ่งตั้งอยู่สุดมุมตะวันออกของทะเลสาบ Issyk ห่างจากพรมแดนจีนประมาณ 150 กิโลเมตร (แต่ไม่มีถนนเข้าประเทศจีนทางนี้) และจากกรุง Bishkek ราว 380 กิโลเมตร

กินข้าวกลางวันเกือบบ่าย 3 ที่ร้าน Dastorkon (Дасторкон) ร้านอาหารดังของเมืองคาราโกล ตอนแรกจะสั่ง Yak Kuurdak เป็นเนื้อจามรี แต่ทางร้านบอกว่ามีเฉพาะในหน้าหนาวเพราะเนื้อจะมีคุณภาพดีกว่า อดลองเลย!
สั่ง Lamb chops kuurdak และ Beef kuurdak จานละ 250 KGS มาแทนก็ได้ ค่าอาหารมื้อนี้รวมภาษี 10% และ service charge 15% เป็น 599 KGS แชร์กันจ่ายคนละไม่ถึง 140 บาทครับ
เมือง Karakol มีที่เที่ยวนิดหน่อยครับ เดินถึงกันได้
Sobor Svyatoy Troitsky (Cобор Святой Троицы) หรือ Holy Trinity Cathedral โบสถ์รัสเซียนออร์โธด็อกซ์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นด้วยไม้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1895
ห่างออกไปราว 1 กิโลเป็นที่ตั้งของ Ysyk-Köl oblasttyk Karakol shaaryndagy Ibrakhim Ajy atyndagy borborduk mechit หรือ Dungan Mosque (дунган мечити) หรือในภาษาอุยกูร์ว่า Isiq-köl oblasttiq Qaraqol sharindaghi Ibrahim Haji atindaghi borborduq mäsjid มัสยิดสถาปัตยกรรมสไตล์จีนที่สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีค.ศ. 1910 ซึ่งมีเอกลักษณ์จากโครงอาคารทั้งหมดที่สร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว
ในเมือง Karakol มีโรงแรมให้เลือกเยอะ ราคาไม่เกินคืนละ 30 USD และที่ถนนสายหลักกลางเมืองมีร้านแลกเงินด้วย ถ้าเงินหมดก็แลกเพิ่มที่นี่ได้ครับ เรทดีกว่าที่ Bishkek นิดนึง
แต่เราเลือกออกนอกเมืองนิดหน่อยไปพักค้างคืนที่ Reina-kench โรงม้าแข่งระดับแชมป์ที่ปรับปรุงเป็นที่พักและฟาร์มเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ให้อารมณ์เหมือนไปนอนที่เขาใหญ่ประมาณนั้น ไม่ได้ถามราคาห้องพักมานะครับ แต่ไม่น่าจะเกิน 35 USD ต่อคืน
ลงไปรับประทานอาหารเย็นในกระโจม ค่าอาหารมื้อนี้คนละ 700 KGS หรือ 10 USD ครับ
วันที่ 5 (วันสุดท้าย)
วันนี้เราจะกลับ Bishkek เพื่อขึ้นเครื่องบินของ Air Astana ก่อน 2 ทุ่มไปคาซัคสถาน
จากทางตะวันออกสุดของทะเลสาบ Issyk ขับรถเลียบด้านเหนือของทะเลสาบประมาณ 400 กิโลเมตร

ระหว่างทางมีที่ให้แวะเที่ยวได้ เช่น
ALTYN ORDO-Yurt Hostel เป็นบ่อน้ำแร่และที่พักอยู่ในเขตหมู่บ้าน Chong Oruktu ส่วนมากคนนิยมมาแช่น้ำแร่อุ่นๆ กันในช่วงฤดูหนาวครับ
Cholpon-Ata Petroglyph Muzeyi (Petrogliphs Museum) คือพิพิธภัณฑ์กล้างแจ้งซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีทรงคุณค่าของประเทศ มีลักษณะเป็นทุ่งหินกว้าง หินบางก้อนมีภาพเขียนโบราณเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ต้องเสียค่าเข้าเล็กน้อย
บริเวณนี้อยู่ทางทิศเหนือของเมือง Cholpon-Ata (Чолпон-Ата) เมืองรีสอร์ทตากอากาศยอดนิยมของชาวคีร์กีซริมทะเลสาบ Issyk ถ้าชอบประวัติศาสตร์ก็แวะมาชมได้ครับ
Burana munarasy (Бурана мунарасы) หรือ Burana Tower หอคอยโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ใกล้กับเขตเมือง Tokmok ห่างจากกรุง Bishkek ราว 80 กิโลเมตร
อดีตบริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณ Balasagun มาก่อน แต่ปัจจุบันหลงเหลือแค่เพียงหอคอยนี้เท่านั้น เดิมทีหอคอยมีความสูง 45 เมตร แต่จากเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทำให้โครงสร้างหลักถูกทำลายจนเหลือความสูง 25 เมตร
ด้วยความสูงและที่ตั้งที่อยู่ในเส้นทางสายไหม หอคอยบูราน่าจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์บอกนักเดินทางว่ามีเมืองให้แวะพักค้างแรมได้อยู่แถวนี้
ใกล้ๆ มีกองหินสลักเป็นรูปคนคือ Kurgan stelae หรือ Balbals (балбал) เป็นสุสานของบุคคลสำคัญของเมือง
จากหอคอย Burana นั่งรถยาวไม่เข้าเมือง Bishkek ไป Manas el aralıq aeroportu หรือสนามบิน Manas เลยครับ
*ห้ามคัดลอกหรือดัดแปลงข้อมูลและรูปภาพเพื่อนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต