เที่ยวเอง Caucasus Trip: Azerbaijan – Georgia – Armenia
มาถึงรีวิวสุดท้ายของทริปที่อยากบอกว่าเป็นทริปที่วางแผนได้ยากที่สุดตั้งแต่เคยทำมาเกิน 10 ทริปเลยครับ
รีวิวตอนนี้ผมขอรวบเรื่องราวการเที่ยวในประเทศอาร์เมเนีย 2 วันที่เหลือไว้ในตอนเดียวเลย โดยเราใช้ Yerevan เป็นศูนย์กลางในการเดินทางไปเมืองต่างๆ ของอาร์เมเนียตามแผนเที่ยวนี้ครับ
วันที่ 10 : Yerevan – Khor Virap – Yerevan – Vagharshapat – Yerevan
วันที่ 11 : Yerevan – Sevan และกลับ Tbilisi
ย้อนกลับไปอ่าน 6 รีวิวที่ผ่านมาได้ที่
“Kazakhstan” ดินแดนลูกครึ่งเอเชีย-ยุโรปอันน่ามหัศจรรย์
“Azerbaijan” แม้ชื่อประเทศจะฟังดูโหด แต่ถ้าได้มาก็อาจโปรดไม่น้อย
เปิดโลกอันกว้างใหญ่ ณ “จอร์เจีย” ตอนที่ 1 “Tbilisi” มนต์สะกดที่ต้องจดจำ
เปิดโลกอันกว้างใหญ่ ณ “จอร์เจีย” ตอนที่ 2 “Kazbegi” ที่นี่มันคือที่ไหนในโลก
เปิดโลกอันกว้างใหญ่ ณ “จอร์เจีย” ตอนที่ 3 “Signagi” เค้าว่าเมืองนี้คือเมืองแห่งความรัก
“Armenia” ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกปิดตาย ตอนที่ 1 “Yerevan” หนึ่งในเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เช้าวันที่ 10 ของทริป เราจะไป Khor Virap กัน สถานที่นี้คืออะไร? ต้องอ่านต่อครับ
เริ่มต้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน Hanrapetu’tyan Hraparak (Հանրապետության հրապարակ) หรือ Republic Square โดยเดินตรงจากโรงแรมราว 500 เมตร ลงไปในสถานีเพื่อซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินราคา 100 AMD (ประมาณ 7 บาท) จากคนขายตั๋ว แล้วนั่งรถไฟใต้ดิน 2 สถานีไปที่สถานี Sasuntsi David (Սասունցի Դավիթ) บางครั้งก็เขียนว่า Sasuntsi Davit

ออกจากสถานีต้องเดินไปทางซ้ายถึงจะถึงสถานีรถบัส Sasuntsi David แต่เราขอเดินไปทางขวาก่อนไปโผล่ที่ด้านหน้าสถานีรถไฟกลาง Yerevan kayaran (Երեւանի երկաթուղային կայարանի) ที่ Sasuntsi Davit Hraparak (Sasuntsi David Square)
ตอนนี้เราอยู่จุดนี้ของเยเรวานครับ
เดินกลับทางเดิมเข้าไปในอาคารตรงไปที่สถานีรถบัส Sasuntsi David ซึ่งอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟกลาง Yerevan kayaran ออกจากทางเดินใต้ดินไปก็เห็นท่ารถเมล์และ marshrutka (minibus) ที่มีรถจอดอยู่เพียบ แล้วเราต้องขึ้นคันไหนหว่า? ป้ายหน้ารถมีแต่ตัวอักษรภาษาอาร์เมเนียทั้งนั้น ข้อมูลที่หามาบอกแค่ว่ารถบัสจะออกไป Khor Virap ตอน 9 โมงเช้า แต่แถวนี้ไม่มีรถบัสใหญ่เลย มีแต่รถเมล์เล็กล้วนๆ ถามคนขับรถแถวนั้นสิครับว่าไปกอร์วิราปคันไหน? ไม่เห็นยาก ลุงแกชี้ไปที่รถเมล์เบอร์ 467 ขึ้นรถไปถามคนขับให้ชัวร์ว่าไปกอร์วิราปใช่มั้ย? ลุงพยักหน้าตอบรับ
(รถเมล์อีกรอบคือ 14.00 น. ส่วนรถ marshrutka มีรอบ 11.00 น. และ 15.30 น. ค่ารถ 400 AMD)
9 โมงตรง รถเมล์ออกจากท่ารถมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ นั่งยาวออกไปบ้านนอกของอาร์เมเนีย
พอผ่านเมือง Artashat (Արտաշատ) ไปไม่ไกลรถเมล์ก็เลี้ยวขวาเข้าสู่เขตหมู่บ้าน Pokr Vedi (Փոքր Վեդի) เราก็เห็นสิ่งก่อสร้างบนเนินเขาที่มีฉากหลังเป็นภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมทั่ว นั่นก็คือ Khor Virap ซึ่งเป็นจุดหมายของเราในเช้านี้
นั่งต่อไปอีกแป๊บนึงคนขับก็บอกให้เราลงตรงนี้ จ่ายค่ารถคนละ 350 AMD (ประมาณ 25 บาท) และถามคนขับว่ารถขากลับเยเรวานจะมากี่โมง? โดยใช้ภาษามือชี้นาฬิกาและชี้ไปทางเยเรวาน ลุงตอบมาว่าบ่าย 3 ตอนนั้นยังไม่ 10 โมงเช้าเลย เราต้องอยู่ที่นี่อีก 5 ชั่วโมงเลยหรอเนี่ย! ดูบริเวณรอบๆ แล้วไม่น่าจะมีร้านอาหารให้กินข้าวเที่ยงด้วย สงสัยขากลับต้องเรียกแท็กซี่เอา แต่จะมีแท็กซี่เข้ามาที่นี่มั้ย? เดี๋ยวค่อยลุ้นเอาหน้างาน
จากจุดนี้ต้องเดินไกลราว 1.5 กิโลเมตรไปยัง Khor Virap แต่ก็หยุดถ่ายรูปจากหลายๆ ระยะไปเรื่อยๆ จนถึงสำนักบวช
Khor Virap (Խոր Վիրապ) คือสำนักบวชหรืออารามอันศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างด้วยหินปูนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เพื่อเป็นที่อยู่ของผู้นำทางคริสต์ศาสนาในอาร์เมเนีย ที่นี่เคยเป็นสถานที่จองจำนักบุญเกรกอรีในคุกใต้ดินที่แทบมืดมิดนานถึง 13 ปี ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีจึงทำให้กอร์วิราปกลายเป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอาร์เมเนีย เป็นสถานที่แสวงบุญของคริสต์ศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอาร์เมเนียนไม่เสื่อมคลายจนถึงปัจจุบัน
ภูเขาหิมะที่เด่นตระหง่านอยู่ด้านหลังอารามมีชื่อว่า Ararat หรือ Masis (Մասիս) ซึ่งเป็นภูเขาไฟรูปกรวย 2 ลูกในเขตประเทศตุรกี ยอดที่สูงกว่าคือ Greater Ararat มีความสูง 5,137 เมตร ส่วนยอด Little Ararat (Pok’r Ararat) สูง 3,925 เมตร
ภูเขาอารารัตมีความสำคัญอย่างยิ่งในพระคัมภีร์เก่าของศาสนาคริสต์ในเหตุการณ์น้ำท่วมโลกและครอบครัวของโนอาห์สร้างเรือไม้บรรทุกสัตว์ทุกชนิดอย่างละคู่ไว้บนเรือนานนับเดือน ตามตำนานเล่าว่าพอน้ำลดระดับลงเมื่อ 7,000 ปีก่อน เรือของโนอาห์ได้มาเกยตื้นอยู่ที่เชิงเขาอารารัตนี้นี่เอง มนุษย์กลุ่มสุดท้ายที่รอดจากน้ำท่วมโลกคราวนั้นจึงลงจากเขามาขยายเผ่าพันธุ์อีกครั้ง ชาวตุรกีตะวันออกและชนชาติอาร์เมเนียจึงภูมิใจและเรียกตัวเองว่าเป็นลูกหลานของโนอาห์อย่างเต็มปาก
เดินถ่ายรูปทุกซอกทุกมุมจนไม่รู้จะทำอะไรแล้วเพิ่งจะเที่ยงเอง แถวนี้ไม่มีร้านอาหารและของกินที่ช่วยให้อิ่มได้เลย ลองเดินกลับไปที่ลานจอดรถหน้าอารามเพื่อดูว่ามีแท็กซี่แวะมาส่งคนบ้างมั้ย พอดีเห็นลุงคนนึงยืนอยู่ใกล้ๆ รถแท็กซี่เหมือนว่ากำลังรอรับผู้โดยสารที่ไปเที่ยวอยู่ จึงลองถามว่าไปเยเรวานมั้ย ลุงแกตอบว่า 6,000 dram (AMD) หรือประมาณ 440 บาท ราคาที่เช็คมาก่อนมันไม่แพงขนาดนี้นะ เลยลองต่อลุงเหลือ 4,000 dram ต่อรองไปมาสรุปแล้วเหลือ 4,500 dram
ลุงหยิบมือถือขึ้นมาโทรเรียกแท็กซี่ให้เรา อ่าว! เราก็นึกว่าลุงเป็นคนขับแท็กซี่เอง จริงๆ แล้วลุงเป็นเจ้าหน้าที่ของที่นี่ซะงั้น 555
ยืนรอรถมารับท่ามกลางแสงแดดแผดเผาอยู่เกินครึ่งชั่วโมงครับ ไม่รู้ว่าแท็กซี่ขับมาจากเยเรวานรึเปล่า 55 ราคา 4,500 dram นี้แท็กซี่ไปส่งแค่สถานีรถไฟใต้ดิน Gortsaranayin ชานกรุงเยเรวานทางทิศใต้ แล้วต่อรถไฟใต้ดินอีกแค่ 100 dram เข้ากลางเมือง ถูกและเร็วกว่าเยอะ
บ่ายโมงนิดๆ เราก็กลับมาอยู่ที่สถานีรถไฟใต้ดิน Hanrapetu’tyan Hraparak (Republic Square) อีกครั้ง เดินไปร้าน karas ซึ่งเป็นร้านอาหารเชนใหญ่ของเมืองที่ถนน Abovyan ใกล้กับจัตุรัส ก่อนถึงร้านเห็นรถติดป้ายรับนำเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วอาร์เมเนียและมีรูปทบิลิซีด้วย ลองถามดูหน่อยซิว่ารับนำเที่ยวทะเลสาบ Sevan ไป Dilijan และไปส่งที่ทบิลิซีวันพรุ่งนี้มั้ย?
ชายหนุ่มคนขับรถคำนวณระยะทางแล้วคิดค่ารถ 45,000 dram (AMD) หรือเกือบ 3,300 บาท ถือว่าไม่แพงเลยเพราะข้อมูลที่หามาบอกว่าค่าแท็กซี่เหมาไปทบิลิซีราคา 28,000-32,000 AMD แต่ไม่น่าจะแวะเที่ยวเมืองต่างๆ ระหว่างทางได้ ถ้าจะนั่งรถ marshrutka ตอน 9 โมงเช้าจากสถานีรถบัสกลาง Kilikia Avtokayan กลับ (ขามาเยเรวานเราก็ใช้วิธีนี้) ค่ารถก็ประมาณคนละ 8,000 AMD x 2 คนก็ 16,000 AMD ถูกกว่าเยอะแต่ไม่ค่อยสะดวก ใช้เวลานาน และแวะเที่ยวเมืองอื่นไม่ได้เลย แต่เรายังไม่ตอบตกลงและบอกเค้าว่าขอกินข้าวก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ
ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการเดินทางจาก Yerevan ไป Tbilisi นอกจากการใช้รถ marshrutka จากสถานีรถบัสกลาง Kilikia Avtokayan
- มีรถ marshrutka ออกจากสถานีรถไฟกลาง Yerevan kayaran (Երեւանի երկաթուղային կայարանի) ที่ Sasuntsi Davit Hraparak (Sasuntsi David Square) ทุก 2 ชั่วโมง ในเวลา 09.00, 11.00, 13.00, 15.00, 17.00 น. ค่ารถประมาณ 7,000 AMD)
- ช่วงปลายก.ย.-กลางมิ.ย. รถไฟกลางคืนขบวน 372 ออกจาก Yerevan 22.00 น. ทุกวันคู่ และเดินทางถึงสถานีรถไฟกลาง Tbilisi Tsentrali ในเวลา 08.20 น.
- ช่วงกลางมิ.ย.-ปลายก.ย. รถไฟขบวน 202 Yerevan-Batumi ออก 15.30 น. และเดินทางถึงสถานีรถไฟกลาง Tbilisi Tsentrali ในเวลา 00.12 น.
ตั๋วรถไฟสำหรับผู้ใหญ่มีหลายราคาตั้งแต่ 6,270-17,730 AMD สามารถซื้อตั๋วที่สถานีรถไฟได้
เช็คข้อมูลได้ที่ www.ukzhd.am เลือก Ticket Online
เข้าร้าน karas ซึ่งเล็งไว้ตั้งแต่เมื่อวานเพราะราคาไม่แพงและมี Business lunch set ให้เลือกสั่งเคบับชนิดต่างๆ 1 อย่าง เครื่องเคียงพวกผัก 1 อย่าง เส้นหรือข้าว 1 อย่าง และเครื่องดื่ม ในราคา 1,350 AMD หรือเกือบ 100 บาท (ราคาอาหารที่เยเรวานจะอยู่ที่มื้อละ 1,800-2,500 AMD ต่อคน)
กินไปนั่งคำนวณไปว่าเงินที่แลกมาจะพอจ่ายค่ารถกลับทบิลิซี 45,000 AMD มั้ย? แล้วก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะใช้บริการเค้าแต่จะลองต่อราคาลงหน่อย เดินกลับไปที่รถซึ่งจอดอยู่ใกล้ๆ ร้านและลองต่อราคาลงเหลือ 40,000 AMD เค้าตอบโอเคทันทีและถามเราว่าจะให้ไปรับที่ไหน? กี่โมง? เราจึงพาเค้าเดินไปที่โรงแรมซึ่งอยู่ไกลออกไปแค่ 400 เมตร และนัดมารับพรุ่งนี้ตอน 9 โมงเช้า
ช่วงบ่ายนี้เราจะไปเที่ยวเมือง Vagharshapat ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากศูนย์กลางกรุงเยเรวานราว 20 กิโลเมตร โดยต้องไปขึ้นรถที่สถานีรถบัสกลาง Kilikia Avtokayan (สถานีที่มาถึงตอนขามาจากทบิลิซี)
ออกจากโรงแรมเดินตรงเข้าถนน Aram ไปที่ Mashtots’i Poghota (Մաշտոցի Պողոտա) หรือถนน Mesrop Mashtots ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมือง เลี้ยวซ้ายเดินตามถนนใหญ่นี้ไปขึ้นรถเมล์ที่ป้ายก่อนถึง Pak Shuka (Covered Market)
ขึ้นรถเมล์สีเขียวสาย 259 (หรือรถเมล์เล็กสาย 47 ก็ได้) ไปสถานีรถบัสกลาง Kilikia Avtokayan (Автовокзал Ереван) ก่อนลงรถเมล์ก็จ่ายค่ารถคนละ 100 AMD
เดินไปที่หน้าอาคารสถานีรถบัสเห็นรถ marshrutka สาย 203 จอดรออยู่จึงขึ้นรถไปเลย (ขึ้นรถเมล์เล็กสาย 111 จากป้ายที่ลงก็ได้)
นั่งเบียดเสียดกับคนท้องถิ่นไปเกือบครึ่งชั่วโมงก็ลงที่ Komitas Hraparak (Komitas Square) วงเวียนจุดรวมของถนนสายหลักของเมือง (บอกคนขับว่าจะลงที่โคมิตัส ไม่ต้องเลยไปลงที่สถานีรถบัสกลาง Vagharshapat Avtokayan) จ่ายค่ารถคนละ 250 AMD ให้คนขับก่อนลงจากรถ
Vagharshapat (Վաղարշապատ) ออกเสียงว่า “วาการ์ชาปัต” คือเมืองใหญ่อันดับที่ 4 ของประเทศอาร์เมเนีย เดิมเมืองนี้มีชื่อว่า Ejmiatsin หรือ Echmiadzin (Էջմիածին) ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็น Vagharshapat เมื่อปีค.ศ. 1992

ข้ามถนนใหญ่ตรงวงเวียนเข้าไปในอาณาบริเวณของ Mayr At’oř Surb Ēǰmiatsin (Մայր Աթոռ Սուրբ Էջմիածին) หรือ Mother See of Holy Etchmiadzin เขตโบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO เมื่อปีค.ศ. 2000
ตรงไปแป๊บเดียวก็เห็นสิ่งก่อสร้างหลังคาโดมอยู่ทางซ้ายมือ นั่นคือ Gevorgyan Č̣emaran (Գևորգյան Ճեմարան) หรือ Gevorgian Seminary โรงเรียนสอนศาสนาของ Armenian Apostolic Church ก่อตั้งโดยชาวคาทอลิกนามว่า Gevorg IV เมื่อปีค.ศ. 1874
เลยไปนิดนึงก็เลี้ยวขวาเดินไปยัง Ēǰmiatsni Mayr tačar (Էջմիածնի Մայր տաճար) หรือชื่อเต็มคือ Mother Cathedral of Holy Etchmiadzin (Մայր Տաճար Սուրբ Էջմիածին) หรือชื่อเดิมคือ Holy Mother of God Church เรียกย่อๆ ว่า Etchmiadzin Cathedral มหาวิหารโบราณที่เป็นมรดกโลกนี้ได้ชื่อว่าเป็นโบสถ์ซึ่งสร้างโดยทางการที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยสร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 301 ภายหลังกษัตริย์อาร์เมเนียนามว่า Tiridates ที่ 3 ได้สถาปนาตนเองเป็นคริสตศาสนิกชนส่งผลให้อาร์เมเนียเป็นดินแดนแรกในโลกที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสเเตนท์อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันโบสถ์สไตล์อาร์เมเนียนดังกล่าวยังคงเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ในประเทศ โดยทุกปีจะมีผู้เดินทางมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจำนวนมาก
แต่ตอนนี้โบสถ์อยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่จนถ่ายรูปไม่สวยเลยครับ
ตรงข้ามกับวิหาร Etchmiadzin คือ Old Pontificial Residence (Հին Վեհարանի) หรือ Hin Veharan ที่ประทับของพระสันตะปาปาในสมัยโบราณสร้างขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1738-1741 และใช้มาจนกระทั่งปีค.ศ. 1962 ปัจจุบันอาคารหลังนี้คือ Catholicosal Museum
เช็คข้อมูลเวลาเปิด-ปิดและค่าเข้าชมได้ที่ www.armenianchurch.org
เดินไปทางยอดโบสถ์ที่สูงโดดเด่นอยู่ไม่ไกล (ทางทิศใต้) พอผ่านสนามฟุตบอลเล็กๆ ไปก็ถึง Surb Gayane (Սուրբ Գայանե եկեղեցի) หรือ St. Gayane Church โบสถ์เก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 620 เพื่อเป็นเกียรติแด่เหล่าแม่ชีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทรมานและสังหารโดยกษัตริย์ Tiridates ที่ 3 แห่งอาร์เมเนีย
เดินกลับทางเดิมไปที่วงเวียนตรง Komitas Hraparak (Komitas Square) ข้ามถนนแล้วเลี้ยวขวาเดินตามถนนใหญ่ Mesrop Mashtots อีกราว 1 กิโลเมตรก็เห็นยอดแหลมของโบสถ์ Shoghakat เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Petrozavodsk อีกนิดเดียวก็ถึงทางเข้าโบสถ์
Surb Shoghakat (Շողակաթ եկեղեցի) หรือ Shoghakat Church ซึ่งมีความหมายว่า drop of light เนื่องจากรังสีของแสงจากสวรรค์จะสาดส่องลงมาที่ตัวโบสถ์ โบสถ์แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1694 โดยเจ้าชาย Aghamal Sorotetsi ในยุคของ Catholicos Nahabed I of Edessa แห่งอาร์เมเนีย
เดินกลับไปที่สี่แยกเดิมแล้วเลี้ยวซ้ายเดินตามถนน Mesrop Mashtots อีกราว 400 เมตรก็ถึง Surb Hřip’simē yekeghetsi (Սուրբ Հռիփսիմե եկեղեցի) หรือ St. Hripsime Church (Hripsimeh) โบสถ์ Armenian Apostolic ที่สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 618 โดย Komitas Aghtsetsi ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานทางสถาปัตยกรรมหลายแห่งในอาร์เมเนีย เขาสร้างโบสถ์นี้ขึ้นเพื่อแทนที่หลุมฝังศพเดิมที่สร้างโดย Sahak Parthev ผู้เป็น Isaac of Armenia ตั้งแต่ปีค.ศ. 395
ที่เที่ยวในวาการ์ชาปัตมีแต่โบสถ์วิหารจริงๆ ยังกะทัวร์ไหว้พระเก้าวัด 555
ข้ามถนนไปรอรถเมล์เล็กสาย 111 หรือรถ marshrutka สาย 203 ที่ป้าย ไม่นานรถเมล์เล็กสาย 202 ติดป้ายหน้ารถว่า Erevan (ซึ่งหมายถึงเยเรวาน) ก็มาจอดที่ป้าย นั่งรถคันนี้กลับเยเรวานได้เหมือนกัน ค่ารถก็เท่ากันคือ 250 AMD รถเมล์ไปจอดสุดทางที่สถานีรถบัสกลาง Kilikia Avtokayan (Автовокзал Ереван) อีกครั้ง ต่อรถเมล์เล็กสาย 47 กลับเข้าศูนย์กลางเมือง พอรถแล่นผ่าน Pak Shuka (Covered Market) ไปไม่ไกลก็ลงและเดินกลับโรงแรม
ตัดภาพไปในวันที่ 11 ซึ่งเป็นวันรองสุดท้ายของทริป
วันนี้เราจะเดินทางออกจากประเทศอาร์เมเนียกลับไปกรุงทบิลิซี เมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย ค้างคืนที่นั่นก่อน 1 คืนแล้วเดินทางไปสนามบินเพื่อบินกลับเมืองไทยตอน 11.40 น.
เมื่อวานตอนบ่ายเราตกลงจ้างรถให้ขับพาไปเที่ยวทะเลสาบ Sevan และเมือง Dilijan แล้วไปส่งถึงทบิลิซีเลยโดยนัดมารับที่โรงแรม 9 โมงเช้า
หลังรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จก็เช็คเอาท์และเดินไปขึ้นรถที่มาจอดรออยู่แล้ว ชายร่างเล็กหน้าตาไม่มีพิษมีภัยคนเดียวกับเมื่อวานมารับเราตรงเวลา ขับรถออกจากเยเรวานไปประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึง Sevana lič̣ (Սևանա լիճ) หรือทะเลสาบเซวานซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอาร์เมเนียและภูมิภาคคอเซซัส โดยพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบอยู่ในความครอบครองของทางการในฐานะสถานที่พักผ่อนของประธานาธิบดีในช่วงฤดูร้อน
เดินขึ้นไปยัง Sevanavank (Սևանավանք) หรือ Sevan Monastery อารามศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างมาตั้งแต่ปีค.ศ. 874 เดิมทีตำแหน่งที่ตั้งของอารามอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบ แต่หลังจากโครงการผันน้ำในสมัย Joseph Stalin อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ทำให้แผ่นดินรอบๆ บริเวณกลายเป็นลักษณะคาบสมุทรยื่นลงไปในทะเลสาบ
เราอยู่ที่นี่ประมาณ 45 นาทีแล้วก็เดินกลับไปที่รถเพื่อเดินทางต่อ นั่งไปอีกแป๊บนึงคนขับก็แวะซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ริมทางให้ลงไปซื้ออาหารห่อไปกินบนรถ เค้าบอกว่าอาหารที่ Dilijan ไม่ค่อยดีให้ซื้อตั้งแต่ตรงนี้เลย จากนั้นนั่งรถอีกประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงเมือง Dilijan (Դիլիջան) เมืองพักผ่อนตากอากาศและเมืองสปาที่ได้รับฉายาว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งอาร์เมเนีย แต่คนขับบอกว่าให้ไปที่เมือง Ijevan ดีกว่าแล้วก็ขับผ่านเมือง Dilijan ไปเฉยเลย เราก็งงๆ แต่ก็ช่างมันเหอะ คนท้องที่เค้าแนะนำแบบนี้อ่ะ
ไม่นานเราก็เดินทางมาถึง Ijevan (Իջևան) เมืองขนาดกลางซึ่งอยู่ในเส้นทางระหว่าง Yerevan กับ Tbilisi เรามาเมืองนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเพราะคนขับพาเรามาซะงั้น 55
ในบริเวณกลางเมืองไม่เห็นมีอะไรเที่ยวเลย เราจึงเลยบอกให้เค้าขับรถขึ้นไปบนเขาเพื่อหาจุดถ่ายรูปจากที่สูงลงไปเห็นตัวเมืองทั่วๆ ซึ่งก็ได้ภาพแบบนี้ครับ
หมดโปรแกรมเที่ยวในอาร์เมเนียแล้ว ต่อไปเราจะนั่งรถยาวกลับทบิลิซีแล้ว ถ้าดูแผนที่จาก google map จะเห็นว่ามีถนนช่วงหนึ่งที่ล้ำเข้าไปในดินแดนของประเทศอาเซอร์ไบจานซึ่งผมได้ให้ข้อมูลไปตั้งแต่รีวิวตอนที่แล้วว่าสองประเทศนี้มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกันจนถึงขั้นทำสงครามกันและไม่สามารถเดินทางเข้าออกระหว่างกันได้ แต่เส้นทางช่วงสั้นๆ นี้สามารถขับรถผ่านได้โดยไม่มีด่านตรวจครับ

นั่งรถต่อตามเส้นทางคดเคี้ยวขึ้นลงเขาประมาณชั่วโมงนึงก็ถึงเมืองเล็กๆ สุดท้ายก่อนถึงด่านชายแดน แวะลงไปกำจัดเงินอาร์เมเนียที่เหลือด้วยการซื้อขนม แต่เหลือ 40,000 AMD ไว้จ่ายค่ารถตอนถึงทบิลิซี
จากนั้นก็ไปตรวจคนออกเมืองที่ด่านของอาร์เมเนียซึ่งไม่มีปัญหาติดขัดเหมือนตอนขาเข้าประเทศ นั่งรถต่อไปผ่านด่านเข้าประเทศจอร์เจียแบบสบายๆ แล้วนั่งยาวอีกประมาณชั่วโมงครึ่งก็กลับถึงสถานีรถไฟกลาง Tbilisi Tsentrali อีกครั้งตอนบ่ายสามโมงครึ่ง เดินเข้าไปในอาคารสถานีขึ้นลิฟท์ไปที่ Hotel Tbilisi Central by Mgzavrebi ซึ่งเรามาพัก 3 คืนก่อนที่จะไปเที่ยวอาร์เมเนีย ส่วนพ่อหนุ่มก็ขับรถกลับเยเรวานในเย็นวันนั้นเลย กว่าจะถึงบ้านเค้าคงไม่ต่ำกว่า 3 ทุ่มแน่ๆ ขับรถอึดจริงๆ ครับ
*ห้ามคัดลอกหรือดัดแปลงข้อมูลและรูปภาพเพื่อนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต