พูดถึงชื่อประเทศ “แคนาดา” หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไกลตัว ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการไป และไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางต้นๆ ที่ต้องไปให้ได้ของนักท่องเที่ยวไทย แต่ถ้าใครชื่นชอบส่วนผสมระหว่างความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ความเจริญของเมืองใหญ่ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว เชื่อว่าจุดหมายนี้มีครบหมดทุกรสชาติ
ถ้ากำลังมองหาประเทศที่กลมกล่อมกำลังพอดี “แคนาดา” อาจเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น หากสนใจประเทศนี้อยู่ ลองมาดู 10 ข้อน่ารู้สำหรับประกอบการวางแผน “เที่ยวเอง” ในแคนาดากันเลย
วีซ่า
การเข้าไปเที่ยวแคนาดาจำเป็นต้องมีวีซ่า วีซ่าแคนาดานั้นมีหลายประเภทมาก เอาง่ายๆ ว่าคนที่จะไปเที่ยวให้ขอวีซ่าแบบพำนักระยะสั้น โดยต้องยื่นเรื่องผ่าน VFS ซึ่งเป็นตัวแทนรับเรื่องและส่งต่อให้สถานทูตซึ่งเอกสารหลักๆ ประกอบด้วยแบบฟอร์มคำขอที่สามารถ download ได้จากเว็บไซต์ของ VFS, หนังสือเดินทางตัวจริง, รูปถ่ายสี ฉากหลังขาว ขนาด 2×2 นิ้ว 1 รูป, จดหมายรับรองการทำงานหรือรับรองความเป็นนักเรียน/นักศึกษา, หลักฐานทางการเงินย้อนหลัง 6 เดือน, หลักฐานการชำระเงินค่าวีซ่า 2,800 บาท และค่าธรรมเนียม 673 บาทที่ซื้อผ่านธนาคาร (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ สอบถาม VFS ได้) โดยสามารถยื่นเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจได้ เช่น ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ, การจองที่พัก, หนังสือเดินทางเล่มเก่า รวมถึงแผนการเดินทางคร่าวๆ สำหรับวิธีการยื่นเอกสาร แนะนำให้ walk in ยื่นด้วยตัวเองที่ VFS อาคาร เดอะ เทรนดี้ ชั้น 28 ซอยสุขุมวิท 13 ระยะเวลาดำเนินการปกติ 16 วันทำงาน หรืออาจจะเร็วกว่าเล็กน้อยถ้าไม่มีปัญหาติดขัด
การจัดทริป
เนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีค่าครองชีพค่อนข้างสูง จึงต้องเลือกว่าอยากไปเที่ยวที่ไหนบ้าง ส่วนมากแล้วต้องเลือกระหว่างฝั่งใดฝั่งหนึ่งคล้ายกับสหรัฐฯ ด้านตะวันออกของประเทศเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่หลายเมืองที่ชื่อคุ้นหู เช่น Toronto, Montréal, Ottawa (เมืองหลวง) รวมทั้ง Québec โดยฟีลเมืองนั้นผสมผสานระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส จะมีแค่ Toronto ที่ไปในทางอเมริกามากกว่า ส่วนฝั่งตะวันตกมีเมืองใหญ่อย่าง Vancouver ที่ให้กลิ่นอายอเมริกันผสมกับเมืองอาณานิคมอังกฤษอื่นๆ เช่น ซิดนีย์ และด้วยความที่ฝั่งตะวันตกมีแนวเทือกเขาร็อคกี้พาดผ่าน ทำให้เป็นที่ตั้งของเขตอุทยานแห่งชาติชื่อดังหลายแห่ง อาทิ Jasper และ Banff ทางฝั่งนี้จึงมีชื่อเสียงในเรื่องความสมบูรณ์และสวยงามของธรรมชาติเป็นจุดขายเช่นกัน ถ้ามีเวลาหรืองบประมาณไม่พอให้ลองชั่งน้ำหนักดูว่าอยากไปฝั่งไหนมากกว่ากัน
สายการบิน
อย่างที่รู้ว่าแคนาดาอยู่เหนือสหรัฐฯ และอยู่คนละซีกโลกกับเมืองไทย การเดินทางไปต้องใช้เวลาบินรวมกว่า 20 ชั่วโมง อีกทั้งไม่มีสายการบินตรงจากเมืองไทย โดยต้องไปเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อย 1 ครั้งทั้งหมดซึ่งส่วนมากเป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออก เมืองหลักๆ ที่มีเครื่องบินไปลง ได้แก่ Toronto, Vancouver และ Montréal
สำหรับสายการบินที่เราเลือกใช้คือ EVA Air ที่ต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ไต้หวัน เพราะเวลาลงตัว คุณภาพดีเยี่ยม และมีจุดหมายให้เลือกตรงตามแผน
ค่าเงิน
สกุลเงินของแคนาดาคือ Canadian dollar หรือ CAD โดย 1 CAD เท่ากับประมาณ 26 บาท แนะนำให้แลกเงินสดตั้งแต่เมืองไทยติดตัวไปเลย สามารถแลกได้ตามร้านแลกเงินทั่วไป แม้ร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงแรมต่างๆ จะรับบัตรเครดิตเกือบทั้งหมด แต่ก็จะถูกชาร์จในเรทที่สูงกว่าเงินสดที่ขายในท้องตลาดราว 0.6-0.8 บาทต่อหนึ่งดอลล่าร์ อีกทั้งถ้าขึ้นรถเมล์แบบเที่ยวต่อเที่ยวส่วนมากต้องจ่ายเป็นเงินสดและรับเฉพาะเหรียญที่พอดีค่ารถเท่านั้นอีกด้วย
สภาพอากาศ
ด้วยความที่ตำแหน่งที่ตั้งของแคนาดานั้นอยู่ทางเหนือสุดของโลกติดกับเขตอาร์คติก สภาพภูมิอากาศจึงหนาวเหน็บติดลบหนักมากในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายนถึงเมษายน) ยิ่งเป็นแถบที่ขึ้นไปทางขั้วโลกเหนือหรือบนภูเขาสูง ดังนั้น ฤดูกาลท่องเที่ยวที่ไม่โหดร้ายจนเกินไปคือช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยช่วง high season คือฤดูร้อน (กรกฎาคมถึงสิงหาคม) ซึ่งราคาโรงแรมจะทะยานขึ้นสูงกว่าปกติไปอีก สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าไปชมทะเลสาบชื่อดังอย่าง Lake Louise ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายนที่หิมะและน้ำแข็งในทะเลสาบละลายหมดแล้ว รวมทั้งเส้นทางเข้าไปยัง Lake Moraine ยังเปิดให้เข้าไปได้แล้วเช่นกันอีกด้วย
การเดินทางภายในประเทศ
แม้อาณาเขตดินแดนของแคนาดากว้างขวางมากแต่ระบบขนส่งสาธารณะก็ครอบคลุมและเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น ระบบรถไฟที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่ทั้งสองฝั่งถึงกันทั้งหมด รถบัส เช่น Greyhound, Brewster และ Megabus ที่ใช้เดินทางระหว่างเมืองใหญ่และเมืองเล็กต่างๆ กระจายทั่วประเทศ รวมทั้ง เครื่องบินที่มีสายการบิน Air Canada ให้บริการบินภายในประเทศ ดังนั้นการเดินทางภายในประเทศจึงจัดว่าทำได้สะดวก แต่อาจต้องใช้เวลานานพอสมควรและราคาค่อนข้างสูง ทางที่ดีคือซื้อล่วงหน้าทางออนไลน์ตั้งแต่เนิ่นๆ
ภาษา
แคนาดาเป็นประเทศในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร ภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วประเทศจึงเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตามในหลายเมืองโดยเฉพาะด้านตะวันออก อาทิ Montréal และ Québec จะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักในการสื่อสารเนื่องจากทั้งสองเมืองอยู่ในรัฐ Québec ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมายาวนาน ทำให้ได้รับอิทธิพลทุกด้านมาแบบเต็มๆ นอกจากนี้เมืองอื่นๆ เช่น Toronto และ Ottawa ก็มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสอยู่บ้างเช่นกัน
ราคาสินค้าและบริการ
คล้ายกับที่สหรัฐฯ ราคาสินค้าและบริการทุกอย่างที่โชว์อยู่ยังไม่ใช่ราคา total เพราะตอนจ่ายเงินจะต้องบวกภาษีรัฐ (บางเมืองมีภาษีประเทศ) ไปอีกเฉลี่ยประมาณ 5% โดยค่าครองชีพโดยรวมในแคนาดาถือว่าสูง ยิ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่ขายนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เช่น Banff, Lake Louise รวมทั้ง Québec ค่าครองชีพยิ่งแพงหนักขึ้นไปอีก
ความหลากหลายของคน
แคนาดาเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง คนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถอยู่รวมกันได้อย่างกลมกลืน ดังนั้นเวลาเดินไปตามท้องถนนเราจะไม่รู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น แน่นอนว่าการเป็นแหล่งรวมของคนหลายเชื้อชาติทำให้เรื่องอาหารการกินครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าอยากรับประทานอาหารของประเทศอะไรก็หาได้หมด ถ้าเป็นอาหารเอเชียจำพวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะมีราคาค่อนข้างถูกกว่าอาหารฝรั่ง โดยอยู่ที่ประมาณ 6-12 CAD แต่ถ้าเป็น fast food ทั่วไปก็จะพอๆ กับอาหารเอเชีย
การทิปเงิน
ชาวแคนาดาให้ความสำคัญกับเรื่องการทิปมากไม่แตกต่างจากชาวอเมริกัน ตามปกติต้องทิปเงินให้กับผู้ที่ให้บริการเรา ไม่ว่าจะเป็น บริกรในร้านอาหาร พนักงานโรงแรม หรือแม้แต่แท็กซี่ โดยในร้านอาหาร ถ้าพอใจการบริการก็ควรทิปราว 15-20% ของราคาอาหารก่อนรวมภาษี แต่ถ้าไม่พอบริการก็สามารถทิป 5-10% ได้เช่นกัน แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของการรับประทานอาหารในร้านคือมีน้ำดื่มเสิร์ฟให้ฟรีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารฝรั่งหรือเอเชีย ส่วนในโรงแรมทั่วไปควรทิปประมาณ 2-5 CAD ต่อคน และแท็กซี่ราว 10-20%
*ห้ามคัดลอกหรือดัดแปลงข้อมูลและรูปภาพเพื่อนำไปเผยแพร่ก่อนได้รับอนุญาต